ไขข้อข้องใจ! แพทย์จุฬาเผย ไทยกำลังศึกษา 'ลดโดส' วัคซีนเข็มกระตุ้น

23 พฤศจิกายน 2564, 18:21น.


          สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก จัดเสวนาออนไลน์เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตอน ร่วมเปิดใจ พร้อมไขทุกข้อสงสัย “วัคซีนโควิด-19 กับก้าวต่อไปของคนไทย”  ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนว่าการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือเคยป่วยโควิด-19 จะทำให้มีภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันก็จะลดลง อย่างในประเทศที่ประชากรได้รับวัคซีนครอบคลุมกว่าไทย ก็ยังพบการติดเชื้อซ้ำ เนื่องจากปัจจัยเช่น เชื้อกลายพันธุ์ ภูมิลดลง และยกเลิกการใส่หน้ากากอนามัย หรือผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง



          ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวว่า  สายพันธุ์ที่มีการระบาดในไทยมีผลต่อระดับภูมิคุ้มกัน เพราะเมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนความสามารถในการยับยั้งเชื้อก็จะลดลง อย่างสายพันธุ์เดลตาลดลง 2-3 เท่า สายพันธุ์เบตาลดลงไปถึง 6 เท่า นับว่ายังเป็นโชคดีที่การระบาดส่วนใหญ่ คือ สายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์เบตามีคุณลักษณะในการแพร่กระจายเชื้อได้น้อย



          อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ งานวิจัยของวัคซีนโมเดอร์นาที่ฉีดครบ 2 โดสในขนาด 100 ไมโครกรัม พบว่าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 50 ไมโครกรัม ได้ดีในสายพันธุ์ดั้งเดิม และในอเมริกามีการแนะนำว่า หากฉีดโมเดอร์นาครบ 2 โดส ควรให้เข็มที่ 3 เพียงครึ่งโดส ก็สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีในเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ไทยกำลังทำวิจัยการฉีดเข็มกระตุ้นที่ 3 ที่ 4 ในขนาดที่ลดลง ทั้งนี้การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในไทยจะเป็นสูตรไขว้ ไม่ว่าจะเป็นแอสตร้า หรือ mRNA สามารถฉีดได้ จึงไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะโควิดคงจะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 1 ปี





          คำแนะนำในอเมริกาเมื่อเดือนต.ค.64 ระบุว่าประชาชนสามารถรับวัคซีนเข็มบูสเตอร์หรือฉีดสูตรไขว้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี หรืออายุ 18 ปีขึ้นไปที่เสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว สำหรับกลุ่มอื่นๆ แพทย์สามารถพิจารณาให้วัคซีนเข็มบูสเตอร์ได้ โดยพิจารณาหลังจากได้รับเข็มสุดท้ายไปแล้ว 6 เดือน ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด อาจจะใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีการฉีดในทุกปี และเมื่อมีการระบาดโควิด ในต่างประเทศก็มีการณรงค์ให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนโควิดในวันเดียวกันได้ ซึ่งทางโมเดอร์นาและโนวาแวกซ์ก็เริ่มทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกในการรวมวัคซีนไข้หวัดใหญ่และโควิดในเข็มเดียวกัน



          นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในไทย ขณะนี้ พบว่า สายพันธุ์เดลตาระบาดครอบคลุมในประเทศถึง 99.74% ส่วนสายพันธุ์เบตาที่หลายคนกังวล พบการระบาดเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สงขลา ยะลา



          ผลวิจัยเบื้องต้นของทางศิริราชฯ ในการศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในคนไทยของวัคซีนซิโนแวคพบว่าเมื่อฉีด 2 เข็มภูมิคุ้มกันขึ้นสูง แต่ไม่เท่ากับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ที่ภูมิจะขึ้นสูงกว่า ส่วนผลวิจัยการฉีดสูตรไขว้ที่ใช้กันจำนวนมากอย่าง ซิโนแวคไขว้แอสตร้าฯ พบว่าภูมิขึ้นสูงกว่าฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ขณะเดียวกันการฉีดด้วยแอสตร้าฯไขว้ซิโนแวคภูมิจะขึ้นค่อนข้างน้อย     



          ดังนั้นทางสธ. จึงไม่นำสูตรนี้มาใช้ ส่วนการฉีดแอสตร้าฯไขว้ไฟเซอร์ พบภูมิคุ้มกันขึ้นไปสูงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังพบว่าฉีดซิโนแวคไขว้ไฟเซอร์ภูมิก็ขึ้นใกล้เคียงเช่นกัน



          ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นแนวทางในการให้วัคซีนในประเทศไทย 4 แนวทางคือซิโนแวคไขว้แอสตร้าฯ, แอสตร้าฯไขว้ไฟเซอร์แอสตร้าฯ 2 เข็ม และไฟเซอร์ 2 เข็ม



          ส่วนผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า จากการได้รับรายงานผู้เสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนจำนวน 1,436 คน พบเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนเพียง 4 คน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มเสี่ยง 608 ควรเข้ารับวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความรุนแรงของโรคโควิด-19



#โควิด19



#วัคซีนโควิดในไทย

ข่าวทั้งหมด

X