*อดีตอธิการบดีสจล.มอบตัวสู้คดี/สรรพากรลดประมาณรายได้ปีนี้/ศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวนสรรหาผู้ว่าการรฟม.*

24 กุมภาพันธ์ 2558, 08:50น.


ความคืบหน้าคดียักยอกทรัพย์ของสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งตำรวจกองปราบปราม พบหลักฐานสำคัญคือเอกสารการเบิกจ่ายเงินของธนาคาร และทำให้เชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงของ สจล.มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการของ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด อย่างชัดเจน จึงเตรียมยื่นหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว 1 รายคือ นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล. ซึ่งมีกำหนดเข้ามอบตัวในวันนี้ เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมและต่อสู้คดี ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนจะแจ้งดำเนินคดี 3 ข้อหา คือ ร่วมกันลักทรัพย์ ร่วมกันปลอมแปลงเอกสาร และละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157



ส่วนพ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รรท.ผบก.ป. คาดว่า พนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนคดีเพื่อส่งฟ้องผู้ต้องหาชุดแรก ประกอบด้วย นายทรงกลด ศรีประสงค์ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์ นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการ นางสมบัติ โสประดิษฐ์ น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ นายภาดา บัวขาว และนางระดม มัทธุจัด รวม 8 คน ไม่เกินวันที่ 5 มีนาคมนี้



ในวันนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะแถลงดัชนี ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคม  2558 การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน



ด้านกรมสรรพากรปรับลดประมาณการรายได้ปีนี้ลง 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อรายได้ และภาษีเงินได้นิติบุคคลของธุรกิจน้ำมันในประเทศ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลต่อผลประกอบการของกลุ่มบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ในไทย โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีงบประมาณ 2558 เช่นเดียวกับผลประกอบการในกลุ่มบริษัทน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันเพื่อกลั่น ที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งบางรายแสดงผลการดำเนินงานขาดทุนแล้ว จากเดิมมีรายได้และกำไรหลายพันล้านบาท



นอกจากนี้ กรมยังมีความเป็นห่วงรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจากต่างประเทศที่อาจลดลงเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม กระทรวงการคลังประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบและสินค้ากึ่งวัตถุดิบกว่า 2,000 รายการ ส่งผลให้ภาษีแวตที่กรมศุลกากรจัดเก็บแทนกรมสรรพากรลดลง



จากมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ได้ลงมติ 12 เสียงจาก 20 เสียง ตัดสินให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไม่ต้องอาบัติปาราชิกและมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคะแนนเสียงจากพระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกายจำนวน 2 เสียง คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ซึ่งมีอายุ 98 ปีแล้วไม่ได้เข้าร่วมประชุม ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวรารามฯ อาพาธและพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ได้เข้าร่วมประชุม มส.มานานแล้วเช่นกัน แต่ทั้ง 2 รูปนั้นมีคะแนน ซึ่งหากมีการลงคะแนนแทนจริง ต้องถือว่ามตินี้เป็นโมฆะ นอกจากนี้ การที่นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนัก งานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขานุการ มส.ซึ่งเข้ามาร่วมประชุม แต่ไม่ทักท้วง ก็น่าจะมีความผิดร่วมด้วย



นอกจากนี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ยังเปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ จะมีการหารือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมที่ดินเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัดพระธรรมกาย และพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระธัมมชโย) จากนั้นจะรวบรวมรายงานเสนอ  พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้



ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำหนังสือสอบถามเรื่องการขอยกเลิกคำสั่งการสอบวินัยร้ายแรง การอนุมัติลาออกจากตำแหน่งของผู้บริหาร รฟม. ในวันนี้ศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวนคู่กรณีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. และเรื่องมติคณะกรรมการ รฟม. ที่เห็นชอบกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.โดยมิชอบ



*-*

ข่าวทั้งหมด

X