*ครม.หารือสัมปทาน/ป.ป.ช.พิจารณา3คดีใหญ่/ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกองค์คณะคดีทุจริตข้าว*

24 กุมภาพันธ์ 2558, 07:51น.


วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำประเด็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังการเปิดเวทีฟังความเห็นแล้ว



ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดว่าตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาหาทางออกกรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 จะเสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธนี้ โดยยืนยันว่ารัฐบาล พยายามดำเนินการให้ดีที่สุด



เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่มีกลุ่มต่างๆออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้  คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและทำใจแล้ว เพราะเขาต้องต่อสู้ แต่หากจะต่อสู้ทางการเมือง ขอให้ทำในช่วงที่มีการเลือกตั้ง โดยกล่าวว่า ประชาธิปไตยเลือกตั้งแล้วมีสิทธิ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วไม่มีสิทธิ เสรีภาพ ให้คนอื่นเขาเลยหรืออย่างไร มันต้องมี แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายทั้งหมด ไม่ใช่ได้คะแนนเสียงมาเป็นรัฐบาลแล้วไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย



ด้าน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมเวทีปรองดองว่า ในวันนี้ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ได้เดินหน้าจัด "เวทีความคิด ปฏิรูปประเทศไทย" เพิ่มเติมอีก 31 แห่ง โดยประชาชนสามารถติดต่อร้องเรียนหรือสอบถามกิจกรรมของ ศปป.ได้ที่สายด่วน 1152



ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะพิจารณาคดีใหญ่ 3 เรื่อง คือคดีการสลาย ผู้ชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพระสุเทพปภากโร คดีถอดถอน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคดีจัดซื้อไมโครโฟน



โดยในกรณีการพิจารณาถอดถอนอดีตสมาชิกภาผู้แทนราษฎรนั้น นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า เดิมมีอดีต ส.ส.ที่อยู่ในการพิจารณาถอดถอน 269 คน แต่เมื่อ ป.ป.ช.มีการจัดหมวดหมู่ตามฐานความผิดของอดีต ส.ส.แต่ละคนเป็น 6 ฐานความผิดแล้วพบว่า อดีต ส.ส. บางคนมีชื่อในฐานความผิดซ้ำกัน ทำให้ยอดจำนวนอดีต ส.ส. ที่จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม วันนี้เหลืออยู่ 258 คน และมีอดีต ส.ส. ที่ถูกพิจารณาคดีอาญา กรณีเสียบบัตรแทนกันอีก 5 คน รวมเป็น 263 คน ซึ่งการพิจารณาลงมตินั้น ป.ป.ช. จะยึดบรรทัดฐานจากการลงมติคดีถอดถอนอดีต ส.ว. ที่ผ่านมา



ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.ส่งหนังสือชี้มูลความผิดข้าราชการ 2 คนในกระทรวงพาณิชย์ในคดีทุจริตขายข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี)นั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เพิ่งได้รับเรื่องเมื่อ 18 ก.พ. และจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อกพ.) กระทรวงพาณิชย์ ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 21 มี.ค. แต่จะเรียกประชุมก่อนคือภายในสัปดาห์หน้า หากชี้ว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตจริงก็ต้องยึดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2536 คือให้ออกเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าไม่มีการทุจริต แต่มีความผิดวินัยร้ายแรง มีโทษคือ ปลดออก หรือไล่ออก



วันนี้ยังต้องติดตามการประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา จะเป็นประธานการประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา เพื่อเลือกองค์คณะพิจารณาคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีละเลยไม่ยอมระงับยับยั้งโ ครงการทุจริตจำนำข้าว โดยจะเป็นการประชุมลับ และลงคะแนนลับ เพื่อคัดเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน จากมากกว่า 170 คน



ด้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาติดตามและตรวจสอบ การปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตรวจสอบรายงานการประเมินผลค่าใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ของ กสทช.ประจำปี 2556 ตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำส่งเอกสารรายงานการประเมินประจำปี และมีข้อเสนอแนะว่า กสทช.ต้องพิจารณาการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ หากเงินโครงการใดที่กำหนดไว้ใช้เป็นเวลา 2 ปี หากยังไม่มีการนำมาใช้ ก็ขอให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และการที่ไม่สามารถจำแนกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และค่าใช้จ่ายในการบริหารของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อบริการประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยค่าใช้จ่ายของปี 2556 ในหมายเหตุประกอบงบการเงินได้ ดังนั้นผลการตรวจสอบการใช้เงินใน 3 ปีที่ผ่านมาจึงเห็นได้ว่า สำนักงาน กสทช.ต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน ให้เกิดประสิทธิภาพ



ส่วนการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราโดยเป็นการประชุมนอกสถานที่ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การพิจารณาจะเข้าสู่ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 1 ว่าด้วยระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี, หมวด 3 รัฐสภา และ หมวด 4 ครม.มีมาตรารวมทั้งสิ้น 101 มาตรา นอกจากนั้นยังมีบทเฉพาะกาลว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 มาตรา  และเรื่องต่าง ๆ อีก 5 มาตรา รวมทั้งสิ้น 111 มาตรา โดยการประชุมระหว่างวันที่ 23-28 ก.พ. จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จวันละ 22 มาตรา เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ และหากที่ประชุมพิจารณาได้แล้วเสร็จทั้งหมด ถือว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แล้วเสร็จทั้งฉบับ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุม สปช. พิจารณาให้ความเห็น เบื้องต้นได้กำหนดวันประชุมวันที่ 20-22 เม.ย. และ วันที่ 24-26 เม.ย. เมื่อสปช.พิจารณาแล้วเสร็จต้องทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ 26 เม.ย. ดังนั้นจะครบกำหนดในวันที่ 25 พ.ค.



*-*

ข่าวทั้งหมด

X