กรมชลฯประชุมศูนย์ส่วนหน้ารับฝนภาคใต้ เร่งระบายน้ำค้างทุ่ง-เก็บน้ำใช้ในหน้าแล้ง

22 พฤศจิกายน 2564, 13:35น.


          ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ชี้แจงแนวทางการรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้  การเร่งระบายน้ำและเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง



          เริ่มจากสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้  หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้ (22พ.ย.64) จนถึงสิ้นเดือนจะมีฝนตก น้ำท่วม ศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะของกรมชลประทาน มอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 14-17 ตั้งแต่ จ. เพชรบุรี ลงไปจนถึง จ.นราธิวาส เฝ้าระวัง กำหนดจุดเสี่ยง เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำหลาก โดยเน้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง จ. ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ขณะที่ สำนักงานชลประทาน 17 เฝ้าระวัง เตรียมพร้อม ประสานสำนักเครื่องจักรกล นำเครื่องจักร กระจายไปตามจุดต่างๆของภาคใต้ เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้เร็วที่สุด ขณะที่ ช่วงบ่ายวันนี้ มีการประชุมติดตามสถานการณ์ที่ศูนย์ล่วงหน้า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่จ.สุราษฎร์ธานี ในส่วนของผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 15 จะเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อนำเสนอข้อมูลสภาพน้ำฝน น้ำท่า และการคาดการณ์สถานการณ์ในการทำงานร่วมกัน



          ส่วนสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน น้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลง สภาพอากาศเริ่มเย็น ทำให้กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำที่ค้างอยู่ในที่ลุ่มและในทุ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และเริ่มเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง     



         สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีมูล สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เริ่มลดบานกักเก็บน้ำ  ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำในจ. ยโสธร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เริ่มลดลงต่อเนื่อง หลังจากนั้น จะพิจารณาลดบานกักเก็บน้ำบริเวณเขื่อนในแม่น้ำชี



          แม่น้ำมูลตอนบน เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่จ.ศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สถานการณ์น้ำไหลลงมาบรรจบกันที่สถานีวัดน้ำ M7 ที่จ.อุบลราชธานี  ทำให้มีน้ำล้นตลิ่งประมาณ 29 ซม.คาดว่า จะเข้าสู่ภาวะปกติปลายเดือนนี้  และหากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ M7 ต่ำกว่า 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในพื้นที่ อ.วารินชำราบ จะลดการระบายและเก็บกักน้ำบริเวณฝายหัวนาและเขื่อนราศีไศล กลางเดือนธ.ค.64 เพื่อช่วยเกษตรกรในการทำการเกษตร



          ข้อมูลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวานนี้ (21 พ.ย.64) สถานการณ์น้ำที่ระบายท้ายเขื่อนต่ำกว่า 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้พื้นที่ตั้งแต่อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี จนมาถึงอยุธยา น้ำต่ำกว่าตลิ่ง โดยเฉพาะคลองโผงเผง อ.เสนา หัวเวียง ที่ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งจะเริ่มลดลงเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว



          กรมชลประทาน ได้มีการหารือกันในการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ค้างอยู่ในทุ่งและมีระดับน้ำรวมกัน 1,130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีให้เหลือ 30 เซนติเมตร และไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายและพื้นที่ในส่วนของจังหวัดนนทบุรี 



          ขณะที่ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีน ก็จะเพิ่มการระบายน้ำออกจากทุ่งลงสู่แม่น้ำท่าจีนเช่นกัน และจะเข้าสู่ภาวะปกติ ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธ.ค.64 เร็วกว่ากำหนด คือเดือน ม.ค.65 เนื่องจาก กรมชลประทาน  ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ สูบน้ำออกจากทุ่ง ลงสู่ในลำน้ำ พร้อมย้ำว่าการกระบายน้ำไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งแม่น้ำท่าจีน  



          ในพื้นที่เขตพัฒนาภาคตะวันออก (EEC) ปีนี้เป็นปีแรก ที่หลายเขื่อนมีน้ำเต็มความจุ 100% เช่น เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นต้น ถือว่าปีนี้เป็นปีที่มีความมั่นคงด่านน้ำ



 



#กรมชลประทาน



#รับมือฝนตกภาคใต้



#เร่งระบายน้ำตอนบน



#เก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

ข่าวทั้งหมด

X