หลังการหารือระหว่างคณะกรรมการปฎิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และตัวแทนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในคดีเกี่ยวกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการฯ ระบุว่า พบว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นผู้นำเช็คที่เป็นชื่อของสหกรณ์มาให้กับพระธัมมชโย กว่า8 ฉบับมูลค่ากว่า 348 ล้านบาท รวมทั้งนำเช็คมาให้กับวัดพระธรรมกาย อีกกว่า 6 ฉบับ รวม 436 ล้านบาท และให้พระลูกวัดซึ่งเป็นพระผู้ช่วยของพระธัมมชโยอีกกว่า 119 ล้านบาท รวมแล้วเป็นการฉ้อโกงเงินของสหกรณ์ราว 903 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดทั้งทางศีลธรรม ทางอาญาและทางแพ่ง จากการตรวจสอบพบว่าในส่วนของวัดพระธรรมกาย มีการให้ข้อมูลว่านำไปก่อสร้างอาคารในวัด ซึ่งคณะกรรมการฯและปปง.ได้ตรวจสอบและสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเงินจำนวน 436 ล้านบาทที่มีการอ้างว่านำไปสร้างอาคารต่างๆในเนื้อที่วัดกว่า 100 ไร่นั้นอาจมีเพียง 196 ไร่เท่านั้นที่เป็นเนื้อที่วัดจริง ส่วนที่เหลืออีกกว่า 1,000 ไร่อาจเป็นพื้นที่ของมูลนิธิอื่นที่แอบแฝงในวัด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็อาจมีความผิดในกรณีที่นำเงินไปก่อสร้างในพื้นที่อื่นที่มิใช่ธรณีสงฆ์ด้วย โดยจะตรวจสอบกับกรมที่ดินเพื่อให้เกิดความชัดเจนในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
ส่วนเงินของลูกวัดตรวจสอบแล้วพบว่ามีการถอนเงินมาใช้หมดแล้ว และยังไม่ทราบว่านำไปทำสิ่งใด ส่วนพระธัมมชโยที่ได้รับเช็คจากนายศุภชัยกว่า 348 ล้านบาท มีการนำเงินที่ได้ไปให้กับมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์และโอนเข้าบัญชีตัวเองด้วย คณะกรรมการฯสันนิษฐานว่าอาจมีเงินเข้าบัญชีวัดและพระธัมมชโยมากกว่านี้
อย่างไรก็ดี ประสานให้ปปง.ดำเนินคดีแจ้งกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เพื่อให้ทำการโอนคดีเป็นคดีพิเศษและให้อายัดทรัพย์และฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อพระธัมมชโยและลูกวัดแลัว เพราะถือว่าได้มาโดยทุจริต ส่วนของวัดปปง.คงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นธรณีสงฆ์ พร้อมระบุด้วยว่าจากคดีนี้ก็ถือว่าพระธัมมชโยต้องปาราซิกเช่นกัน เพราะกระทำผิดธรรมวินัย และการที่นาย ศุภชัยนำเช็คของสหกรณ์มาให้พระธัมมชโย ก็ถือว่าเป็นการตั้งใจฉ้อโกงประชาชนของพระธัมมชโย ที่ต้องรู้ด้วยดุลยพินิจว่าเช็คดังกล่าวเป็นของประชาชน
ทั้งนี้การประชุมของคณะกรรมการในวันอังคารหน้าจะเชิญดีเอสไอ และกรมที่ดินเข้าให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาคดีรวมทั้งจะมีการประขุมเพื่อกำหนดแนวทางปฎิรูปโครงสร้างพุทธศาสนาต่อไป โดยจะมีสมาชิกจากสนช.ด้านการปฎิรูปศาสนาเข้าร่วมด้วย โดยคดีนี้ถือว่าคณะกรรมการฯมีสิทธิพิจารณาตามหน้าที่ เพราะเป็นการปฎิรูปศาสนาและการกำหนดโครงสร้างของศาสนาอย่างหนึ่งตามอำนาจที่บัญญัติไว้ ยืนยันว่าไม่หนักใจในการทำหน้าที่และกรณีนี้ก็ถือเป็นกรณีศึกษาในการปฎิรูปศาสนาไม่ได้เจาะจงวัดหรือบุคคลใดๆ
ธีรวัฒน์