หลังประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติเห็นชอบแนวทางการนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งกระทรวงจะเปิดให้นำเข้าแรงงานตามบันทึกความเข้าใจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีเงื่อนไขให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีน ต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT – PCR จำนวน 2 ครั้ง
โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน วันละ 500-1,000 บาท และค่าตรวจหาเชื้อโควิด 2 ครั้ง รวม 2,600 บาท กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อ นายจ้างหรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษา ซึ่งวันสุดท้ายของการกักตัวแรงงานต่างด้าวที่ยังรับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ จะได้รับการฉีดวัคซีนโดยกระทรวงแรงงานเป็นผู้จัดหาให้ ในส่วนของเข็มที่ 2 กระทรวงแรงงานจะประสานสาธารณสุขจังหวัดปลายทางเพื่อนัดหมายฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าวตามกำหนด นายจ้างจ่ายแค่ค่าบริการทางการแพทย์
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกความเข้าใจ มีค่าใช้จ่ายรวมในการนำเข้าระหว่าง 11,490-22,040 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน ประกอบด้วยค่าตรวจโควิด 2 ครั้ง 2,600 บาท ตรวจลงตราวีซ่า (2 ปี) 2,000 บาท ใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท ตรวจสุขภาพ 6 โรค 500 บาท ค่าประกันสุขภาพรวมโรคโควิด-19 (บริษัทประกันภัยเอกชน (4 เดือน)) 990 บาท ค่าบริการทางการแพทย์ (ฉีดวัคซีน) 50 บาท และค่าสถานที่กักตัว (วันละ 500-1,000 บาท) กักตัว 7 วัน 3,500-7,000 บาท และกักตัว 14 วัน 7,000-14,000 บาท
ส่วนแนวทางดำเนินการมี 7 ขั้นตอน ดังนี้
1.นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน โดยนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการกักตัวคนต่างด้าว ได้แก่ ค่าสถานที่กักตัว ค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือซื้อประกันที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
2.ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางาน และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง
3.นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ ที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง
4.กรมการจัดหางานทำหนังสือถึงสถานทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้
5. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ผลตรวจโควิด-19 และ หลักฐานการได้รับวัคซีน (ถ้ามี) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตวีซ่า (Non-Immigrant L-A) เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดย ยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้เท่านั้น และต้องเดินทางตามเส้นทางที่กำหนด ห้ามแวะสถานที่ใดๆ ก่อนถึสถานที่กักตัว
6.คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรค กักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ดังนี้
6.1. คนต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง
6.2. คนต่างด้าวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และ ตรวจหาเชื้อโควิด- 19 จำนวน 2 ครั้ง โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แก่คนต่างด้าว ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด-19 ให้เข้ารับการรักษา โดยนายจ้างหรือประกันสุขภาพที่นายจ้างซื้อไว้ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา
7.คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ
#แรงงานต่างด้าวเข้าไทย
#โควิด19