การท่าเรือฯ เตรียมลงนามกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC พัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 (ท่าเรือ F)

10 พฤศจิกายน 2564, 12:26น.


          การบริหารงานในปีหน้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย  เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2565 การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 15,900 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 16,100 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะต้องควบคุมไม่ให้มีรายจ่ายมากเกินไป เนื่องจากยังต้องนำรายได้ในส่วนนี้มาใช้พัฒนาโครงการต่างๆ





          ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุด เห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการฯ กับกิจการร่วมค้า GPC เป็นที่เรียบร้อย ผ่านการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แล้ว โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ เรียบร้อยแล้ว และจะลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยการท่าเรือฯ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำ เป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ ที.อี.ยู. และกิจการร่วมค้า GPC จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายฯ ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ





         สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่3 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท (แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และ เอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชน แบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาท และท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท) โดย กทท. จะเริ่มดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ  F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี วงเงินเอกชนลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ กทท. ดำเนินการจัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเลกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี วงเงินรวม 21,320 ล้านบาท เพื่อรองรับงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรืออเนกประสงค์ ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือบริการ งานระบบรางและย่านรถไฟ ซึ่งจะดำเนินการต่อไปในอนาคต และ กทท. ได้มีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564  ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ คาดว่า จะดำเนินการขออนุญาตแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และหลังจากได้รับการอนุญาตแล้วจะเริ่มดำเนินการงานทางทะเลทันที พร้อมกันนี้ กทท.ได้ว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอลซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอลซัลแตนส์ จำกัด เพื่อควบคุมงานก่อสร้างโครงการฯ วงเงิน 898 ล้านบาท โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563



          การดำเนินการดังกล่าว กทท. รับผิดชอบในวงเงินงบประมาณในส่วนงานโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค การก่อสร้างถนน สร้างระบบทางรถไฟ และท่าเทียบเรือชายฝั่ง



         การท่าเรือฯ จะออกหนังสือเริ่มงาน NTP (Notice to Proceed) ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เริ่มงานเกี่ยวกับอาคาร และสิ่งปลูกสร้าง ลานวางตู้สินค้า ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรทั้งหมด เช่น ปั้นจั่นหน้าท่า ฯลฯ ได้ประมาณปลายปี 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อให้ทันการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกทางหนึ่ง



         ด้าน เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร เปิดเผยผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2564 การท่าเรือฯ มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง 9.8 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.18 และปริมาณเรือเทียบท่ารวม 11,041 เที่ยว ลดลงร้อยละ -0.46 มีกำไรสุทธิในภาพรวมของ กทท. ประมาณ 6,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99 % เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน





 



#การท่าเรือแห่งประเทศไทย



#พัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง

ข่าวทั้งหมด

X