ปัจจุบันปัญหาการทำผิดกฎหมายจราจรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรถจักรยายนต์ เช่น การฝ่าสัญญานไฟแดง การขับรถย้อนศร การแซงในที่คับขัน เป็นต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสั่งให้ ตร. เร่งจัดระเบียบการจราจร เพื่อสร้างความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้กำชับทุกหน่วยงานในสังกัดและภาคีเครือข่ายร่วมกันดำเนินการตามมติที่ประชุมเพื่อเร่งรัดให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) แถลงผลการประชุมการบูรณาการความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน อันเกิดจากการกระทำผิดของผู้ใช้รถใช้ถนน
1. มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดย ตร.จะบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มรถ จยย.ที่กระทำผิด ในพื้นที่เขตเมือง เขตชุมชน หรือเขตสถานศึกษา อย่างเข้มงวด ในข้อหา ขับรถย้อนศร (ปรับไม่เกิน 500 บาท) ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ปรับไม่เกิน 1,000 บาท) ขับรถรถจักรยานยนต์บนทางเท้า (ปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ 400 -1,000 บาท และปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ไม่เกิน 5,000 บาท) รวมถึงการขับรถปาดซ้ายปาดขวา ซึ่งเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว (ปรับ 400-1,000 บาท) ทั้งนี้ นอกจากการออกใบสั่งตามปกติแล้ว หากพฤติการณ์การกระทำผิดข้างต้นดังกล่าวมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน หรือประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในข้อหา "ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น" ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 - 10,000 บาท โดยจะต้องมีการสอบสวนดำเนินคดีและยื่นฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล ยึดรถใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลางในคดีและมีคำร้องขอให้ศาลริบเป็นของแผ่นดิน
โดยจะใช้วิธีการตรวจจับการกระทำผิด 5 วิธี 1. ตรวจพบการกระทำผิดซึ่งหน้าในขณะอำนวยความสะดวกการจราจร 2. การใช้ชุดสายตรวจจราจรออกตรวจในพื้นที่จุดเสี่ยงที่มีฝ่าฝืนกฎหมายหรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 3. การตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 4. การใช้กล้องตรวจจับความผิด 5. การรับข้อมูลจากประชาชน (คลิปกล้องหน้ารถหรือคลิปจากมือถือ) ที่บันทึกเหตุการณ์การกระทำผิดดังกล่าว
2. ความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการกำกับติดตามผู้กระทำผิดกฎหมายตามข้อ 1 (1) กทม. ร่วมบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการขับรถบนทางเท้าซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535
(2) กรมการขนส่งทางบก ร่วมบูรณาการกำกับดูแล การจัดตั้งวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ และการขอจดทะเบียนขึ้นทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ หากกระทำความผิดตามหลักเกณฑ์ของกรมการขนส่งทางบก
จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาต หรือพักใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว
(3) บริษัทที่ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าและอาหารเดลิเวอรี ร่วมบูรณาการใช้มาตรการองค์กร กำกับดูแลผู้ขับขี่ในสังกัดให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดย ตร.ประสานข้อมูลประวัติการกระทำผิด ข้อมูลการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้บริษัทคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพและปฏิบัติตามกฎจราจร และบริษัทฯ จะเพิ่มหมายเลขพนักงานหลังเสื้อบริษัท
3.สร้างช่องทางให้ประชาชน ส่งคลิปกล้องหน้ารถ ที่บันทึกภาพเหตุการณ์การกระทำผิดกฎหมายจราจร และมีพฤติการณ์การขับขี่ที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามดำเนินคดีกับผู้ขับขี่มาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยดำเนินการร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ สวพ.91 จส.100 และภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมเป็น "อาสาตาจราจร" หากพบการกระทำผิดและมีคลิปบันทึกเหตุการณ์สามารถส่งคลิปมาได้ในช่องทางที่กำหนด ได้แก่ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. https://www.facebook.com/SocialMediaRoyalThaiPolice/,จส.100 ช่องทาง เฟซบุค : JS100 Radio https://www.facebook.com/js100radio/,สวพ.91 ช่องทาง เฟซบุค สวพ.91 https://www.facebook.com/fm91trafficpro/และ มูลนิธิเมาไม่ขับ เพจอาสาตาจราจร https://www.facebook.com/อาสาตาจราจร-100472452158287/
โดยคณะทำงาน ศจร.ตร. จะตรวจสอบข้อมูลจากคลิปของประชาชน หากพบว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย จะส่งข้อมูลไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ นอกจากนี้มูลนิธิเมาไม่ขับ จะมีการมอบรางวัลให้กับเจ้าของคลิป ทุกเดือนๆ ละ 10 รางวัล โดยรางวัลที่ 1 : 20,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร รางวัลที่ 2 : 10,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร รางวัลที่ 3 : 6,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร และ รางวัลชมเชย 7 รางวัลๆ ละ 2,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร (รวม 14,000 บาท) รวมเป็นเงิน 50,000 บาท
โดย ตร. จะเริ่มต้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะเริ่มใช้อย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2564
#จับ-ปรับรถฝ่าฝืนกฎหมาย