สถานการณ์น้ำทะเลหนุนที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครช่วงเช้าวันนี้ (วันจันทร์ 8 พฤศจิกายน 2564) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การระบายน้ำสามารถทำได้ตามปกติ แม้จะลดลงไม่กี่เปอร์เซนต์ ในส่วนนี้ก็ต้องดูว่าน้ำจะขึ้นเป็นสองช่วงเวลาหรือไม่ แม้เราจะฝืนธรรมชาติไม่ได้แต่ก็สามารถที่จะแจ้งเตือนประชาชนพร้อมทั้งหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้
ส่วนสถานการณ์น้ำภาพรวมขณะนี้ ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนที่ลดลง ทำให้ปริมาณน้ำท่าตามแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เริ่มมีระดับลดลงไปด้วย ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้ทำการรับน้ำที่ไหลหลากจากทางตอนบนเข้าสู่ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาทั้ง 13 ทุ่ง และในขณะเดียวกันมีแผนระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม 2564 พร้อมทำการปรับลดการรับน้ำเข้าแม่น้ำน้อยผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุ เพื่อช่วยลดผลกระทบบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งผักไห่และทุ่งเจ้าเจ็ด ส่วนปริมาณน้ำในคลองพระยาบรรลือและคลองสาขาต่างๆ อาทิ คลองญี่ปุ่นใต้ คลองขุนศรี คลองลากฆ้อน คลองขุดใหม่ คลองพระอุดม คลองพระพิมล และคลองบางบัวทอง จะทำการลดการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำผักไห่-เจ้าเจ็ด พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนลงแม่น้ำท่าจีนผ่านสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือ และระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 ก่อนจะไหลออกสู่ทะเลตามลำดับ นอกจากนี้ยังสนับสนุนกระสอบทรายและสั่งการให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านลุ่มน้ำท่าจีน ยังมีฝนตกเพิ่มเติมในพื้นที่ประกอบกับมีน้ำบางส่วนจากแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่แม่น้ำท่าจีนผ่านทางประตูระบายน้ำพลเทพ และอิทธิพลจากระดับน้ำทะเลหนุน ทำให้การระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนค่อนข้างช้า ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนยังคงสูงขึ้น ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม ได้รับผลกระทบ กรมชลประทาน ได้ปรับลดการระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำพลเทพ ประตูระบายน้ำท่าโบสถ์ ประตูระบายน้ำกระเสียว-สุพรรณ และประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา เพื่อหน่วงน้ำให้อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยจะทยอยระบายน้ำเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนเริ่มลดลง ควบคู่ไปกับการจัดจราจรน้ำผันน้ำเข้าทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำท่าจีน พร้อมกันนี้ได้สั่งระดมเครื่องจักร เครื่องมือเข้าติดตั้งในพื้นที่และพร้อมเดินเครื่องสูบระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว
ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ระดับน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทางตอนกลางและตอนล่าง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย กรมชลประทาน ได้ทำการตัดยอดน้ำส่วนเกินเข้าไปเก็บไว้ในแก้มลิง 2 ฝั่งของแม่น้ำชี และงดการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว พร้อมแขวนบานประตูระบายน้ำในแม่น้ำชีทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย โดยได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตลอดแม่น้ำชี เพื่อเร่งระบายน้ำในปริมาณที่เหมาะสมลงสู่แม่น้ำมูล โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำมูล ซึ่งก่อนหน้านี้ได้จัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี-มูล ในช่วงเวลาน้ำขึ้นสูงสุด (Peak) ซึ่งจะเหลื่อมเวลากันในจังหวะที่ไหลผ่านตัวเมืองอุบลราชธานี ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตยไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก ในขณะที่การระบายลงสู่แม่น้ำโขงยังทำได้ดี เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่ำกว่าแม่น้ำมูลค่อนข้างมาก กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่อ.พิมูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล จะดีขึ้นในระยะต่อไป
#กรมชลประทาน
#น้ำทะเลหนุนสูง