ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ หัวหน้าหน่วยวิจัย Nanomedicine Research Unit จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือร่วมกันคิดค้นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรค Medical Antiseptic and Moisturizing Spray นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
ผลการทดสอบการฆ่าเชื้อโควิด-19 พบว่า สามารถฆ่าเชื้อตายภายใน 1 นาที พร้อมทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพเป็นของที่ระลึก ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 หรือ Thailand Research Expo 2021 และได้รับการจดแจ้งสิทธิบัตรระดับชาติแล้ว แต่จากคุณสมบัติของแอลกอฮอล์ที่เป็นสารทำให้เกิดการคายน้ำ ทำให้เมื่อใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวแห้งแตก และหยาบกระด้าง จึงทำให้เกิดแนวคิดที่อยากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยากำจัดเชื้อจุลชีพก่อโรคที่ปราศจากแอลกอฮอล์
น้ำยาฆ่าเชื้อโรคดังกล่าวไม่ใช่แอลกอฮอล์ ไม่ติดไฟ เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อแบบสัมผัสผิวหนังได้ สูตรละลายน้ำ กลิ่นหอม ผ่านการทดสอบการระคายเคืองในมนุษย์ พบว่าไม่เกิดการระคายเคืองต่อผิว มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ดี และจากผลการทดสอบการฆ่าเชื้อโควิด-19 พบว่า สามารถฆ่าเชื้อภายใน 1 นาที โดยโครงการการวิจัยนวัตกรรมนี้ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสูตรน้ำยาฆ่าเชื้อจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ขณะนี้ โครงการวิจัยนวัตกรรมได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิบัตรระดับชาติ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เพื่อนำไปจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ใช้ ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อนี้อยู่ในรูปแบบสเปรย์ เพื่อใช้สำหรับพ่นผิวกายและบริเวณอื่นๆ ที่ต้องการ โดยจะให้ความชุ่มชื้น และทำความสะอาดโดยไม่ต้องล้างน้ำออก สามารถพ่นซ้ำๆ ได้ทุก 4 ชั่วโมง แต่ให้หลีกเลี่ยงการพ่นบริเวณดวงตา เยื่อบุผิวช่องปากและจมูก โดยสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานถึง 2 ปี ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line :http://@cmic.chula
#น้ำยาฆ่าเชื้อโควิด19