ครม.อนุมัติงบกว่า 3 พันล้านบาท เดินหน้าพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย

04 พฤศจิกายน 2564, 16:40น.


          การพัฒนาวัคซีนของประเทศไทย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติให้การ สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยนักวิจัยไทย 2 โครงการ



-โครงการแรกคือวัคซีน ChulaCov19 mRna โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอาหารและยากำหนด และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยใช้งบประมาณจากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้จำนวน 2,316.8 ล้านบาท



-โครงการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเห็นชอบกรอบวงเงินที่จะสนับสนุนในอนาคตจำนวน 1,309 ล้านบาท จากพ.ร.ก.กู้เงินเช่นกัน โดยมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเร่งจัดทำรายงานการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2  และเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ต่อไปเพื่อให้ข้อมูลที่ครบถ้วนในการอนุมัติตัวเงินสนับสนุนต่อไป



          นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ตอบข้อคำถามจากสื่อมวลชนในประเด็นการเปิดประเทศว่า พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะเลขานุการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด(ศบค.) รายงานต่อครม.ว่า ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน มีจำนวน 7,124 คน มีผู้ติดเชื้อรวม 6 คนเท่านั้น ไม่มีประเด็นไหนที่ต้องกังวลแม้ว่าระยะนี้คือระยะเปลี่ยนผ่าน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึงประเทศไทยช่วงนี้ก็จะอยู่ภายใต้ระบบ Certificate of Entry หรือ COE อยู่ แต่เมื่อ Thailand Pass ใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ปัญหาในการตรวจสอบต่างๆ ก็จะคลี่คลายไปทั้งหมด สแกนแล้วเดินผ่านได้เลย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ติดตามทุกมิติ



          ส่วนการเปิดเทอมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาก โดยน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รายงานต่อที่ประชุมครม.ว่า การฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรในสถาบันการศึกษาจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน ได้รับเข็มที่ 1 ไปแล้วประมาณ 800,000 คน เข็มที่ 2 อีกประมาณ 557,000 คน ยังมีที่ไม่ได้รับการฉีดอีกประมาณ 87,000 คน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการฉีดให้ครบถ้วน ส่วนจำนวนนักเรียนตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปที่จะต้องได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ตัวเลข ณ วันที่ 3 พฤศจิกายนมีจำนวนประมาณ 3 ล้านคน คิดเป็น 78 % จากยอดที่แจ้งประสงค์ฉีดประมาณ 3,840,000 คน



          ส่วนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่เปิดเรียนได้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน มีจำนวน 12,110 โรงเรียน จากโรงเรียนทั้งหมดประมาณ 35,000 โรงเรียน แม้ว่าจะยังเปิดได้ไม่มาก แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ข้อมูลว่า แต่ละโรงเรียนในพื้นที่กทม.และต่างจังหวัดขอเวลา จะมีอีกเป็นจำนวนมากที่จะเปิดในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เพราะความพร้อมที่จะเปิดโรงเรียนได้นั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข



 #วัคซีนโควิดไทย



#มติคณะรัฐมนตรี 



CR:แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X