สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก เพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเดือนละเกือบ 4 เท่า เป็น 240 ล้านโดส และเตรียมส่งออกวัคซีนในปริมาณมากตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า (2565)
อินเดียระงับการส่งออกวัคซีนตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากสถานการณ์ของโรคระบาดรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงเร่งดำเนินโครงการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน และกลับมาส่งออกอีกครั้งในเดือนนี้ (ต.ค.) จำนวน 4 ล้านโดส แต่ยังไม่ได้จัดส่งให้กับโครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก
นายอดาร์ พูนาวัลลา ซีอีโอของสถาบันเซรุ่ม เปิดเผยว่า ในช่วงก่อนที่จะหยุดการส่งออก สถาบันผลิตวัคซีนได้เดือนละประมาณ 65 ล้านโดส แต่หลังจากที่มีการปรับปรุงโรงงานและกระบวนการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เดือนละ 220 ถึง 240 ล้านโดส โดยเมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) อินเดียยังมีการเฉลิมฉลองความสำเร็จของการฉีดวัคซีนผ่านระดับ 1 พันล้านโดส ซึ่งนายพูนาวัลลา กล่าวว่าอินเดียยังมีความต้องการวัคซีนในปริมาณมาก การส่งออกจะเพิ่มขึ้นในระดับ 20 ถึง 3 ล้านโดสในเดือนพฤศจิกายน และเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในเดือนธันวาคม แต่ในเดือนมกราคม 2565 จะเริ่มการส่งออกในปริมาณมาก แต่อาจยังไม่สูงถึง 200 ล้านโดส
นอกจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว สถาบันเซรุ่มยังผลิตวัคซีนสปุตนิกไลท์ (Sputnik Light) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด 1 โดสจากรัสเซีย ไม่ใช่สปุตนิกวี (Sputnik V) ที่เป็นชนิด 2 โดส และผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออก กับยังมีการผลิตวัคซีนของโนวาแวกซ์ (Novavax) เพื่อการส่งออกด้วย
....
#อินเดีย
#วัคซีนโควิด