การดำเนินคดีกับนายซาแระห์ ตาเหร์ อายุ 34 ปี ลักลอบเข้าไปตัดสายเคเบิลโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้แล้วโดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนไทรคู่ ตั้งอยู่ใกล้เคียงชุมชนรถไฟ กม.11
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย สั่งการให้ติดตามดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุดทั้งทางแพ่งและอาญา พร้อมทั้งให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย อยู่ระหว่างรวบรวมค่าเสียหายส่งพนักงานสอบสวน และดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่การรถไฟฯ และก่อกวนให้เป็นอุปสรรคการเดินรถ รวมถึงทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินทางราชการอีกด้วย เพราะถือเป็นพฤติกรรมอุกอาจในการทำลายทรัพย์สินของราชการ และส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนรวมอย่างมาก
การรถไฟฯ ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัย การใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เนื่องจาก การตัดชุดสายเคเบิลดังกล่าว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบจ่ายไฟฟ้า สำหรับป้องกันอันตรายการบำรุงรักษาของพนักงานที่ลงไปทำงานในเส้นทางรถไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการเดินรถ หรือกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในขบวน ที่สำคัญการรถไฟฯ ยังมีการใช้ช่างบำรุงรักษาของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลบำรุงรักษา ระบบงานกว่า 10 ปีเข้ามาช่วยดูแล เพราะเป็นระบบจ่ายไฟเหนือหัวรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์
นายเอกรัช กล่าวว่า หลังจากนี้การรถไฟฯ ยังคงความเข้มข้นในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ และฝ่ายสืบสวน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งชุดสืบสวนเพื่อติดตามคนร้ายและทรัพย์สินของการรถไฟฯ เป็นการเฉพาะ โดยมี บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งให้บริการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง และบริษัทรักษาความปลอดภัย จัดชุดเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวน และสุ่มตรวจในพื้นที่เสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดวัชพืชตลอดแนวรั้วให้โล่ง เพื่อให้สอดส่องดูแลความปลอดภัยอย่างทั่วถึงและป้องกันไม่ให้ใช้เป็นพื้นที่ก่อเหตุ ตลอดจนมีการเสริมแนวรั้วป้องกันเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมเพื่อเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัย
ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการลักลอบทำลายทรัพย์สินของการรถไฟฯ ได้แก่ พ.ร.บ.จัดวางทางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 มาตรา 84 ระบุว่า ผู้ใดที่เข้าไปในที่ดินรถไฟนอกเขตที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าออก ถือมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น 1 และมาตรา 87ระบุไว้ว่า ผู้ใดทำให้รถ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือสิ่งใดๆ อันเป็นทรัพย์สินของรถไฟเสียหายหรือชำรุด มีความผิดฐานลหุโทษต้องระวางโทษชั้น 1
นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ระบุว่า ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์เขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกันยังเข้าข่ายคดีทำลายทรัพย์สินทางราชการ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 231 ระบุว่าผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ให้ประภาคาร ทุ่น สัญญาณ หรือสิ่งอื่นใดซึ่งจัดไว้เป็นสัญญาณเพื่อความปลอดภัยในการจราจรทางบก การเดินเรือ หรือการเดินอากาศ อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจรทางบกการเดินเรือ หรือการเดินอากาศ ตั้งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-140,000 บาท และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท
#จับคนร้ายตัดสายเคเบิล
#รถไฟชานเมืองสายสีแดง
CR:ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย