การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดการประชุมสัมมนา ครั้งที่3 สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโครงข่ายทางพิเศษที่ขยายการเดินทางจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชื่อมโยงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการต่อขยายจากทางพิเศษอุดรรัถยา(ทางด่วนขั้นที่2 บางปะอิน-ปากเกร็ด) ที่ด่านบางปะอิน มีทิศทางไปด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ขนานกับ ทล.347 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มุ่งหน้าไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และสิ้นสุดที่ถนนสายเอเซีย(ทล.32) กม.40 อ.บางปะหัน รวมระยะทาง 42 กม. เป็นทางพิเศษยกระดับไปกลับรวม 4 ช่องจราจร มีทางขึ้นลง 8 จุด ที่ด่านบางปะอิน ถนนกาญจนาภิเษก ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เกาะเกิด บ้านกลึง แยกวรเชษฐ์ พุทเลา และบางปะหัน
นายเลิศศักดิ์ จิงหะรานนท์ รองผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา สามารถช่วยลดความแออัดของการจราจรช่วงเทศกาลวันหยุด เป็นประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าที่มีฐานผลิตจำนวนมากในจ.พระนครศรีอยุธยา และเป็นเส้นทางที่ใช้เดินทางช่วงอุทกภัยได้ โดย กทพ. จัดสัมมนาโครงการและรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ปี2557 และมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณาสายทางที่เหมาะสม โดยผลการลงคะแนนความเหมาะสมได้สายทางที่ค่อนข้างห่างไกลเขตชุมชน ใช้เงินเวนคืนที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่นา อยู่ห่างกับทล.347 ประมาณ 300 เมตร แต่ทางลงจัดว่ามีความครอบคลุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในจ.พระนครศรีอยุธยา สามารถอำนวยความสะดวกนักท่องในการเดินทาง
สำหรับการสัมมนาวันนี้มีประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมกว่า 300 คน ส่วนใหญ่เป็นการตอบข้อซักถามและชี้แจงในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และหลังจากนี้ กทพ. จะนำโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป และคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี2562 ใช้ระยะเวลา 3 ปี มูลค่าการลงทุนรวม 30,792 ล้านบาท คาดการณ์ปริมาณรถใช้ในปีแรกวันละ 27,026 คัน
...ผสข.อภิสุข เวทย์วิศิษฐ์