การดำเนินคดีกับขบวนการเรียกรับเงินคนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ กล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้งหมด 7 คน คือ
1.น.ส.ภคมน (สงวนนามสกุล)
2.นายวิชญพงศ์ (สงวนนามสกุล)
3. นางสุรีนาฎ (สงวนนามสกุล)
4.นายจุมพล (สงวนนามสกุล)
5.นางสาวบัณฑิตา (สงวนนามสกุล)
6. นางสาวกรรติมา (สงวนนามสกุล) และ
7.นายหทัยชนก (สงวนนามสกุล)
โดยตั้ง 2 ข้อหาคือฉ้อโกง และร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ต้องหา 7 คนนี้ พบว่า 2 คนเป็นคนคีย์ข้อมูลที่ศูนย์ฉีด ส่วนอีก 5 คน เป็นคนจัดหาประชาชนมาฉีด
ด้าน ผู้ต้องหาหญิง กล่าวระหว่างทำแผนประกอบคำรับสารภาพว่า เดิมที่ใส่ชื่อคนอื่นเพิ่มในระบบแล้วเพราะต้องการช่วยเหลือคนรู้จักและเพื่อนเพราะช่วงนั้นวัคซีนเข้ามาในประเทศไม่มากก็อยากให้เพื่อนได้รับวัคซีนเร็ว แรกแรกก็ไม่ได้รับเงินแต่เนื่องจากมีเพื่อนบอกต่อๆกันไปก็จึงมีคนมาให้ช่วยทำและเสนอว่าจะให้เงิน ตนก็รับรายละ 200 บาท ที่ข่าวว่ารับรายละ 1,000 บาท เป็นการบอกต่อต่อกันและบวกเพิ่มกันเอง รายได้ที่ได้ยอมรับว่าได้มาประมาณ 3,000,000 บาทถึง 4,000,000 บาทไม่ใช่เป็น 1,000,000,000 บาท ถ้าได้เป็น 1,000,000,000 บาท ก็คงหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ส่วนเงินที่ได้มานั้นนำไปใช้หนี้ เพราะเงินที่ได้รับจากการทำงานที่ศูนย์วัคซีนบางซื่อวันละ 500 บาท ไม่พอ และสิ่งที่ทำก็ไม่ได้เป็นการแย่งคิวหรือแย่งสิทธิ์ใครเพียงแต่นำชื่อเข้าระบบและทราบมาว่าศูนย์วัคซีนบางซื่อเป็นศูนย์ที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดในประเทศไทย
ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนังและผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ตรวจพบความผิดปกติหลัก 2 ประการ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2564 คือ
1.พบมีการนัดล่วงหน้าจำนวนสูงผิดปกติ มากกว่าจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เป็นผู้นำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลด้วยตนเอง โดยตัวเลขผิดปกติในหลักร้อยและหลักพัน ในช่วงวันที่ 18-27 ก.ค. และพบจำนวนนัดผิดปกติสูงสุดในวันที่ 28 ก.ค. มากถึง 2,827 คน ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเปิดบริการแบบ walk-in
2.พบความผิดปกติของช่วงเวลาในการ upload ข้อมูลการนัดล่วงหน้าเข้าสู่ระบบ โดยพบช่วงเดือน ก.ค. ทางศูนย์ฯ ได้งดรับการนัดล่วงหน้าจากองค์กรภายนอกเกือบทั้งหมด เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ จึง upload ข้อมูลเข้าระบบเสร็จภายในเวลา 18.00 น. ของแต่ละวัน แต่หลัง 22.00 น.ของทุกวัน กลับมีข้อมูล upload เข้าสู่ระบบส่งข้อมูลนัดหมายล่วงหน้าอีกจำนวนมาก
นอกจากนั้น ศูนย์ฯ ยังได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการซื้อขายเพื่อรับคิวการฉีดวัคซีนจากประชาชน นำสู่การตรวจสอบพบทุจริตจากการใช้ Users 19 login ในกลุ่มจิตอาสาของ 1 ในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Operator) ที่มาช่วยคีย์ข้อมูล และแจ้งความดำเนินคดี จนนำสู่การจับกุมตัวการสำคัญได้ในวันนี้ ซึ่งจากข้อมูลพบประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อกระบวนการนี้ช่วงเดือน ก.ค.2564 ประมาณ 7,000-10,000 คน มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ราว 7 ล้านบาท
สำหรับการแก้ไขในขณะนี้ มีการปิดข้อมูลบุคคลอื่นไม่ให้ใครคีย์ข้อมูลแล้ว ผู้ที่จะทำการเพิ่มข้อมูลหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลได้จะมีเพียงเจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์และสถาบันโรคผิวหนังเท่านั้น
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า ขอให้กรณีนี้เป็นบทเรียน และเป็นเครื่องเตือนความจำให้ประชาชนทุกคนว่าประชาชนเข้ามารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าที่ใดก็ตามที่เป็นสถานบริการของภาครัฐ ต้องไม่ยอมรับการเรียกรับใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นใด หากพบเรียกรับผลประโยชน์ เรียกร้องค่าใช้จ่ายขอให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์การฉีดวัคซีนทุกแห่งของรัฐได้เลย ทุกคนไม่ควรตกเป็นเหยื่อในยามสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 นี้ จะต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
#ค่าหัวคิว
#ฉีดวัคซีนโควิด-19
#สถานีกลางบางซื่อ