กรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 16,000,000 คน นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวงดีอีเอส พบว่า มีการนำข้อมูลของคนไข้ไปโพสต์ในเว็บบอร์ด เพื่อต้องการให้หมอและพยาบาล หาข้อมูลของผู้ป่วยสะดวก แต่ปรากฏว่าคนร้ายเห็นข้อมูลนี้จึงนำข้อมูลไปขายผ่านเว็บบอร์ดในตลาดมืดต่างประเทศ จุดนี้จึงเป็นช่องโหว่หรือจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ จะตรวจสอบร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ปิดช่องโหว่ วางระบบความปลอดภัยที่รัดกุมมากขึ้น ในเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุข ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบ ID ที่หายไปก่อน
เหตุการณ์ล่าสุด ต่างกับเหตุการณ์เมื่อปีก่อนที่เกิดขึ้นที่ รพ.สระบุรี การก่อเหตุเมื่อปีก่อน เป็นการปล่อยไวรัสเข้ามาในระบบ คิดว่าครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขน่าจะคาดโทษหนักกว่าปีที่แล้ว
กระบวนการทางกฎหมาย หากผู้กระทำผิด อยู่ต่างแดน ก็ต้องมีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาลงโทษ โทษเบื้องต้น จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท แต่ถ้านำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อ โทษก็จะเพิ่มเป็น 10 เท่า ส่วนผู้ที่นำมาโพสต์ หากมีการตรวจสอบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินคดีด้วย มีโทษทั้งทางอาญาและแพ่ง รวมทั้งโทษทางปกครองด้วย
ก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการโจรกรรมข้อมูลทางออนไลน์เพื่อประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เบื้องต้นจะเร่งตรวจหาช่องโหว่ในระบบที่วางไว้ พร้อมตรวจสอบ จำนวน 16,000,000 คน ที่ถูกแฮกเกอร์ขโมยข้อมูล ได้ข้อมูลมากน้อยเพียงใด ซึ่งขอเวลาตรวจสอบและดำเนินการแก้ไข จะเร่งให้เร็วสุด
ล่าสุดในเวลา 13.30 น.วันนี้ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะแถลงความคืบหน้ากรณีแฮกเกอร์ขโมยข้อมูลคนไข้ เบื้องต้น พบว่า เกิดขึ้นในจังหวัดเพชรบูรณ์
#แฮกข้อมูลผู้ป่วย
#กระทรวงดีอีเอส
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม https://www.js100.com/en/site/news/view/108165