ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30 น.วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564

05 กรกฎาคม 2564, 08:13น.


สถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี ตัวกลางเชื่อม 23 ชุมชน 7 เครือข่าย ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว



          การปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการด้านสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยให้ได้อย่างทั่วถึง ลดอัตราการเสียชีวิต เป็นแนวทางการจัดทำ Home Isolation และ Community Isolation พญ.นิตยา ภานุภาค กรรมการและเลขานุการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม เอชไอวี หรือไอเอชอาร์ไอ (IHRI) เปิดเผยว่า ทีม IHRI เป็นหน่วยกลางเชื่อมชุมชนและโรงพยาบาล และมีโรงพยาบาลปิยะเวทเข้ามาเป็นโรงพยาบาลหลักในการดูแลให้ 23 ชุมชน กลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น คือ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ๆ ในชุมชนทั้ง 23 แห่งนี้ รวมทั้งกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่โทรมาสายด่วน 1330 เพื่อประสานหาเตียงให้ ซึ่งขณะนี้มีตกค้างยังไม่ได้เตียงมากกว่า 1,000 คน



         เมื่อช่วงเดือน เม.ย.64 มีการจัดตั้งทีม Community Support Workforce ซึ่งประกอบด้วยทีมงานจาก IHRI และเครือข่ายภาคประชาชนพันธมิตร เช่น เครือข่ายของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น ทำหน้าที่รับเคสที่เจอในชุมชน ช่วยประเมินเบื้องต้น ประสานหาที่ตรวจ ประสานหาเตียง อบรมแกนนำชุมชน รวม 23 ชุมชน เพื่อให้ความรู้เบื้องต้น เช่น การค้นหาผู้มีความเสี่ยงสูง ต้องทำอย่างไร จะแบ่งระดับสีอย่างไร เจอเคสผู้ป่วยแล้วจะช่วยอย่างไร ทีมนี้เรียกว่า “ทีมคอมโควิดชุมชน” ทำงานร่วมกับ ทีมคอมโควิด IHRI เมื่อมีผู้ป่วยใหม่ เข้ามา ทีม IHRI ก็จะส่งอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดไปให้ แล้วทำการมอนิเตอร์วันละ 2 ครั้ง ระหว่างรอเตียง 



          สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้คนในชุมชนดูแลกันเองได้อย่างเต็มที่ เช่น อาหาร 3 มื้อ อุปกรณ์วัดไข้ วัดระดับออกซิเจน รวมทั้งค่าเดินทางกรณีต้องไป รพ. เป็นต้น หากเป็นเคสผู้ป่วยสีเขียว ชุมชนจะดูแลให้เพื่อลดการครองเตียง แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง รพ.จะรับไปดูแล โดยชุมชน ไม่ต้องตระเวนหาเตียง



          สำหรับ 23 ชุมชนที่มีศูนย์/บ้านพักคอย ใน 7 เครือข่าย ประกอบด้วย



1.เครือข่ายชุมชนเพื่อการพัฒนา ได้แก่ ชุมชนใหม่ไทรทอง (ศูนย์บริการสาธารณสุข 37 ประสงค์ สุดสาคร) ชุมชนเพชรคลองจั่น (ศูนย์บริการสาธารณสุข 50 บึงกุ่ม) ชุมชนทองกิตติ (ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา) ชุมชนหลวงวิจิตร (ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ) ชุมชนโรงหวาย (ศูนย์บริการสาธารณสุข 22 วัดปากบ่อ)



2.เครือข่ายคนไร้บ้าน ได้แก่ บ้านพูนสุข ปทุมธานี (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางพูน) บ้านเตื่อมฝัน เชียงใหม่ (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 10)



3.เครือข่ายรถไฟสายใต้ตะวันตก ได้แก่ ชุมชนพุทธมณฑลสาย 2 (ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา) ชุมชนฟ้าใหม่ร่วมใจพัฒนา (ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม) หลักหก (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหลักหก 1)



4.เครือข่ายชุมชนใต้สะพาน ได้แก่ ชุมชนพูนทรัพย์ (ศูนย์บริการสาธารณสุข 61 สังวาล ทัสนารมย์) ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ (ศูนย์บริการสาธารณสุข 57 บุญเรือง ล้ำเลิศ)



5.เครือข่ายชุมชนก้าวหน้า ได้แก่ ชุมชนภูมิใจ (ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา)



6.เครือข่ายศูนย์รวมพัฒนาชุมชน ได้แก่ ชุมชนกระทุ่มเดี่ยว (ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 สะพานสูง) ชุมชนริมทางด่วนบางนา (ศูนย์บริการสาธารณสุข 32 มาริษ ตินตมุสิก) ชุมชนมีสุข (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแพรกษา) ชุมชนทับแก้ว (ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง) ชุมชนเพชรพระราม (ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง) ชุมชนทองสุข (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแพรกษา) ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง (ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา) ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ (ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง)



7.เครือข่ายชุมชนพระราม 3 ได้แก่ ชุมชนช่องลม (ศูนย์บริการสาธารณสุข 55 เตชะสัมพันธ์) ชุมชนโรงเคลือบ (ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงษ์รัตนาราม)



ผู้ว่าฯ ตาก สั่งปิดเพิ่ม รง.และ ชุมชนต่างด้าวใน อ.แม่สอด



          อ.แม่สอด จ.ตาก พบผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและแรงงานเมียนมาจำนวนมาก นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สั่งปิดพื้นที่และสถานที่ชั่วคราว ดังนี้



1.ปิดบริษัท ท็อป ฟอร์มบราเซีย (แม่สอด) จำกัด ทั้ง 2 สาขา คือที่ตำบลท่าสายลวด และที่ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด ห้ามคนเข้า-ออก ห้ามเคลื่อนย้ายคน และห้ามประกอบกิจการ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 64 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง



2.ปิดซอยด้านข้างโรงงานบริษัท ท็อป ฟอร์มบราเซีย (แม่สอด) จำกัด (สาขา 2) ที่ตำบลแม่กุ ,ซอยวินมอเตอร์ไซด์ ตรงข้ามโรงงานฯ ,ซอยแยกหมึกบาดาล ซอยศิลาลาด 8 บริเวณจุดเชื่อมต่อถนนระหว่างหมู่บ้าน หมู่ที่1กับหมู่ที่ 2 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว งดออกจากเคหสถานโดยไม่มีเหตุจำเป็น



3.ปิดพื้นที่บ้านศิลาลาด หมู่ 2 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด ห้ามเข้า-ออก ยกเว้นมีเหตุจำเป็นอย่างมาก และได้รับอนุญาตจากนายอำเภอแม่สอด ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ



4.กำหนดให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มใน วรรณาพลาซ่า ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น และให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เนื่องจาก พบผู้ติดเชื้อคนไทยและคนต่างด้าว ในสถานที่วรรณาพลาซ่า ดังนั้นจึงต้องมีการป้องกันควบคุมและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.64 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกัน



CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดตาก 



นิวไฮ! โคราช ติดเชื้อพุ่ง 77 คน เร่งเปิดรพ.สนาม รับผู้ป่วยล้นเตียง



          นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผอ.รพ.ปากช่อง-นานา กล่าวว่า อ.ปากช่อง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 คน อยู่ใน ต.ปากช่อง 3 คน ต.หนองน้ำแดง และ ต.จันทึก ตำบลละ 1 คน และเตรียมห้องประชุม ร่มเย็น เปิดเป็น รพ.สนาม รองรับเพิ่มประมาณ 30-40 เตียง



         นอกจากนี้ ได้รับการติดต่อจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะกลับมารักษาตัวอีก 15 คน  



         ภาพรวมของ จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งไปถึง 77 คน สูงสุดนับตั้งแต่มีการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 64 กระจายใน 31 อำเภอ



          มีรายงานว่า รพ.เสิงสาง อ.เสิงสาง ได้ประสาน อบจ.นครราชสีมา นำรถตู้ปรับสภาพเป็นรถรับผู้ป่วยโควิด-19มารับชาวเสิงสาง ใน จ.ปทุมธานี เพื่อกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิดทั้งครอบครัว 4 คน ในจำนวนนี้มีเด็กวัย 8 ขวบ และ 5 ขวบด้วย หลังจากพ่อติดเชื้อรอเตียงมา 4 วันแล้วแต่ยังหาที่รักษาไม่ได้



         ด้านนพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการภารกิจด้านอำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ชี้แจงว่า ขณะนี้ได้ให้การรักษาผู้ป่วย 365 คน โดยมีจำนวน 75 คน ภูมิลำเนาเป็นชาวโคราชที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงและมีผลยืนยันติดเชื้อขอเข้ามารับการรักษาตัวใน รพ.มหาราช บุคลากรได้ช่วยกันปรับพื้นที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม ชั้น 7-8-9 อาคารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สามารถขยายเตียงผู้ป่วยเพิ่ม 24 เตียง แต่ยังมีผู้ป่วยทยอยเดินทางมาและโรงพยาบาลประจำอำเภอได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบเข้ามารักษาต่อ เนื่องจาก มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ล่าสุดเหลือจำนวน 18 เตียง



          กรณีผู้ป่วยเต็มพื้นที่ได้ประสาน รพ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา และ รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา ซึ่งมีศักยภาพสามารถรับผู้ป่วยได้ รวมทั้งมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ได้พิจารณาให้ใช้พื้นที่อาคารชาติชายฮอลล์ ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นครราชสีมา จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม 100 เตียง ขณะนี้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมสถานที่แล้ว



         ขณะที่ จ.ยโสธร ใช้พื้นที่อาคารวิทยาลัยชุมชนยโสธร (หลังเก่า) บ้านบาก ตำบลสำราญ อำเภอเมืองยโสธร เป็นโรงพยาบาลสนาม นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า เตรียมที่จะขยายเตียงโรงพยาบาลสนามที่อาคารวิทยาลัยชุมชนยโสธรได้ประมาณ 200 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามแล้วรวม 47 คน มีเตียงรองรับที่จัดไว้ 90 เตียง แต่คาดว่า น่าจะไม่เพียงพอ



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X