ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ในตอนแรก หลายฝ่ายคาดว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นศูนย์กลางการผลิตขนาดใหญ่ในเอเชีย ซึ่งมีแรงงานทำงานอย่างแออัด เช่น โรงงานในประเทศไทย,มาเลเซีย,เวียดนาม,กัมพูชา,ประเทศจีนและไต้หวัน อาจจะมีระบบควบคุมโรคที่เข้มข้นพอที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปลายปีที่แล้ว ประเทศไทยและเวียดนามยังมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมต่ำกว่า 200 ราย ขณะที่กัมพูชาและลาวยังไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่คนเดียว
จนกระทั่งในเดือนมีนาคมปีนี้ ปรากฏว่าโรคโควิด-19 กลับมาระบาดใหญ่อีกครั้งพร้อมๆกันในหลายประเทศของเอเชีย ที่สำคัญคือ การระบาดคราวนี้ลามไปถึงกลุ่มคนงานของโรงงานอุตสาหกรรมของหลายประเทศในเอเชีย เช่น บริษ้ทแคลคอมพ์ อีเล็คทรอนิกส์ของไทย มีคนงานติดโรคโควิด-19 กว่า 2,100 คนช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
โรงงานส่วนใหญ่ที่พบการแพร่ระบาดปิดชั่วคราว แรงงานหลายพันคนถูกกักกันเฝ้าระวังเนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ เช่นแรงงานชาวเมียนมาไม่ได้ทำงานและไม่ได้ส่งเงินกลับบ้าน
ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมถึงนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และนายโซห์ เทียนไล ประธานสภาอุตสาหกรรมของมาเลเซียมองว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคโควิด-19 ระบาดในระลอกนี้เกิดจากการที่ประเทศเหล่านี้มีปัญหาล่าช้าในการจัดซื้อวัคซีนและกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง เป็นช่องโหว่อีกจุดหนึ่งที่ทำให้โรคโควิด-19 กลับมาระบาดอย่างรวดเร็ว กระทบต่อแรงงานและคนยากจนในเอเชียและทั่วโลก
Cr: cnn