ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30 น.วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2564

02 กรกฎาคม 2564, 15:01น.


‘หมอโอภาส’เผยแนวโน้มเชื้อโควิดเป็นโรคประจำถิ่น เสียชีวิตลดลง


          ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยข้อมูลทางเฟซบุ๊ก Opass Putcharoen ระบุว่า ภาพของการติดเชื้อในอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนการระบาดเป็นเชื้อประจำถิ่น (ความเห็นส่วนตัว) ดูเหมือนการกำจัดไวรัสให้หมด (Eradication)ไปไม่น่าเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่แนวโน้มหวังว่าอาจจะกลายเป็น endemic virus เหมือนการที่เรามี human coronavirus อยู่แล้วในธรรมชาติที่ทำให้เกิดการติดเชื้อระบบหายใจที่ไม่รุนแรง


          สิ่งที่กำหนดการระบาดคือ


1.ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดแต่ในขณะนี้อัตราการกลายพันธุ์เป็นปัญหาเพราะคุมการระบาดเป็นวงกว้างไม่ได้ จนมีการกลายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติติดเชื้อง่ายขึ้นและหลบภูมิจากวัคซีนได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม ไวรัสกลายพันธุ์ อาจจะอ่อนแรงจนเกิดโอกาสทำให้โรครุนแรงน้อยลง จะมีผลกระทบเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่ได้รับวัคซีน


2.การเกิดภูมิคุ้มกันในประชากรจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ ถ้ามากพอ จะช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ถ้าการเกิดภูมิในประชากรเกิดขึ้นได้เป็นวงกว้าง แม้ว่ามีการติดเชื้อกลายพันธุ์ก็ทำให้ความรุนแรงน้อยลง การระบาดจากการติดเชื้ออาจจะไม่หยุดเกิดเป็นระลอกแต่อัตราของผู้เสียชีวิตจะลดลง


          การดูทิศทางของการติดเชื้อในอนาคตถ้าการฉีดวัคซีนเป็นไปได้ตามแผน คือจะเห็นอัตราการเสียชีวิตลดลงก่อน อัตราการระบาดอาจจะมีแนวโน้มสูงอยู่นานและจะค่อยๆลดลง อาจจะเป็นจากวัคซีนและมาตรการต่างๆเพื่อลดการระบาดทั้งมาตรการระดับประเทศและการป้องกันส่วนบุคคล


          เรากำลังอยู่ใน transition phase เปลี่ยนจาก pandemic phase เป็น endemic phase ของการระบาด อัตราการเสียชีวิตในขณะนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีนแข่งกับอัตราการระบาด โดยเฉพาะอัตราการฉีดในประชากรกลุ่มเสี่ยง 


          ในอนาคตการระบาดจะขึ้นเป็นพักๆ มีผู้เสียชีวิตอยู่บ้างอาจจะไม่มากและมีการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิเป็นรอบๆทุกสองสามปี


CR:FB Opass Putcharoen


ศบค.เผยผู้ป่วยกทม.พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ แคมป์ก่อสร้าง -โรงงาน


          พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า 


-ในจำนวนผู้ป่วย 100 คน พบว่า 5 คน มีอาการปอดติดเชื้อ เป็นอาการหนัก 


-2 ใน 5 คน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 


-ในจำนวน 10 คน มี 1-2 รายที่เสียชีวิต


2 นโยบายสำคัญในเดือนนี้ คือ


-การจัดการเตียง ทั้งผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง 


-การระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 


          ผู้เสียชีวิตในช่วงนี้คือคนที่ป่วยเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว


          การพบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบทั้งหมด 113 คลัสเตอร์ 


-กลุ่มสีเขียว ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 28 วัน จำนวน 27 คลัสเตอร์


-กลุ่มสีเหลือง ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ใน 14 วัน จำนวน 7 คลัสเตอร์ 


        วันนี้มีรายงาน 2 คลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ เขตคลองเตย แคมป์ก่อสร้าง ซ.สุขุมวิท 50 พบติดเชื้อ 43 คน เขตหนองแขม โรงงานคัดกรองพนักงาน 1,300 คน ติดเชื้อ 70 คน คิดเป็นร้อยละ 5.38


นายกฯ สั่งการให้ดูแลผู้ป่วยระหว่างรอเตียง ด้วยการแยกออกมากักกันในชุมชน 


          แนวทางการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นห่วงผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงอยู่ที่บ้าน เนื่องจาก เตียงมีจำกัดว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานทั้งศบค.กระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร หารือในสองมาตรการ คือ การทำ Community Isolation นำผู้ป่วยออกจากบ้านมากักกันในชุมชน จึงต้องจัดเตรียมสถานที่ ทำให้ในช่วงบ่ายนี้ 14.30 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมเร่งจัดการ ขณะที่ กรมการแพทย์ ก็จะออกแนวทางปฎิบัติในการดูแลผู้ป่วย ไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปยังคนใกล้ชิดและชุมชน


แนวทางการฉีดวัคซีน กรุงเทพมหานคร ได้รายงานว่า การฉีดวัคซีนเน้นฉีดให้ผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มเสี่ยง และมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และ ผู้พิการ


        จากการตรวจสอบกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน


1.ผู้สูงอายุและผู้ดูแลใน Nursing home จำนวน 140 แห่ง กลุ่มเป้าหมาย 4,615 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุ 2,846 คน ผู้ดูแล 1,769 คน


2.ผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง และ ผู้ดูแล จำนวน 50 เขต กลุ่มเป้าหมาย 1,776 คน แบ่งเป็น ผู้สูงอายุ 1,470 คน และ ผู้ดูแล 306 คน 


         นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นายกฯ ขอให้ประชาชนร่วมมือตามมาตรการที่ศบค. ประกาศให้ประชาชนทราบในแต่ละช่วง เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับเข้มข้นสูงสุด และขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงการชุมนุม และยืนยันรัฐบาลติดตามและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตลอดเวลา ดูแลทุกกลุ่ม และพร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเรียกร้อง สามารถเสนอมาให้รัฐบาลพิจารณาผ่านช่องทางต่างๆ ที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวก


WHO พบแฟนบอลหลายประเทศ ติดเชื้อจากการเข้าชมบอลยูโร 


          นพ.ฮันส์ คลูเกอ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ( WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป แถลงว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอัตราการพบผู้ป่วยโควิด-19 ในภูมิภาค เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ขณะที่ นานาประเทศเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนและหวังตัดวงจรการติดต่อของเชื้อโรคแต่ยังคงมีประชาชนอีกหลายล้านคนที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก 


          นพ.คลูเกอ กล่าวถึง การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ยูโร 2020 ซึ่งเลื่อนมาจากปีที่แล้ว และมีการจัดการแข่งขันหมุนเวียนกันในหลายประเทศ ว่าคือการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมหาศาลครั้งใหญ่พร้อมกันในคราวเดียว ตอนนี้มีรายงานเข้ามาที่ WHO มากขึ้นว่าพบผู้ติดเชื้อซึ่งมีไทม์ไลน์เกี่ยวข้องกับการเข้าชมฟุตบอลยูโรในหลายประเทศ 


          อย่างไรก็ตาม การสอบสวนโรคไม่สามารถจำกัดได้แค่พฤติกรรมภายในสนามแข่งขัน เจ้าหน้าที่ต้องลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่การเดินทางออกจากบ้านของผู้ป่วยคนนั้นไปจนถึงการเดินทางกลับบ้านว่าใช้บริการสถานที่แห่งใดบ้าง ใช้ระบบขนส่งสาธารณะแบบใด นี่คือกลุ่มเสี่ยงขนาดใหญ่ หากประชาชนในยุโรปยังคงการ์ดตกเช่นนี้ การเผชิญกับระลอกที่สามของโรคโควิด-19 หลีกเลี่ยงไม่ได้


          ด้านสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ออกแถลงการณ์ตอบโต้ WHO  ยืนยันการจัดการแข่งขันภายใต้มาตรการควบคุมทางสาธารณสุขเคร่งครัดระดับสูงสุดแต่การกำหนดจำนวนผู้เข้าชมในสนาม ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและฝ่ายจัดการแข่งขันของประเทศนั้น 


ไฟป่าเผาทำลายหมู่บ้านในแคนาดา ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนแล้ว 486 ราย


          คลื่นความร้อนทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงและเผาทำลายหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองลีตตัน ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ของแคนาดา ซึ่งทางการท้องถิ่น ได้ประกาศให้ประชาชนเร่งอพยพออกจากบ้านเรือน แต่ภายในเวลาประมาณ 15 นาที เปลวไฟได้ลุกลามไปทั่วเมือง


เมืองลีตตัน เพิ่งทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดของประเทศที่ 49.6 องศาเซลเซียสในสัปดาห์นี้ ขณะที่ทั่วพื้นที่อเมริกาเหนือมีอุณหภูมิที่สูงผิดปกติ


          ที่รัฐบริติชโคลัมเบีย มีผู้เสียชีวิต 486 รายใน 5 วัน เทียบกับค่าเฉลี่ย 165 รายในช่วงเวลาปกติ สืบเนื่องมาจากสภาพอากาศรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อน 3 ราย ในช่วง 3 ถึง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะพักอาศัยอยู่ตามลำพังในบ้านที่ไม่มีการระบายอากาศ


เด็กชายอายุ 3 ขวบเสียชีวิตหลังจากถูกทิ้งไว้ในรถ ที่เซาท์แคโรไลนา


          ตำรวจเทศมณฑลสปาร์ตันเบิร์ก รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐฯ รายงานว่า เด็กชายอายุ 3 ขวบเสียชีวิตจากการที่ถูกทิ้งไว้ในรถยนต์ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด


          ตำรวจ เปิดเผยว่าได้รับแจ้งเหตุและเดินทางไปบ้านเมื่อเวลาประมาณ 17.45 น. ของวันพุธ (30 มิ.ย.) ซึ่งผู้ปกครองของเด็กชาย บอกกับตำรวจว่าเธอไปส่งเด็กชายกับลูกของเธอที่โรงเรียนในเช้าวันนั้น แต่ไม่ได้สังเกตว่าเขาไม่ได้ลงจากรถไปพร้อมกับลูกของเธอ จนกระทั่งในตอนเย็น ที่พบเด็กชายอยู่ภายในรถเอสยูวีของเธอ จึงโทร 911 ทันที ผลการชันสูตรเบื้องต้นพบว่าเด็กชายเสียชีวิตเนื่องจากความร้อน ซึ่งในวันนั้นอุณหภูมิแตะระดับสูงสุดที่ 33 องศาเซลเซียส


          ส่วนตำรวจเปิดเผยว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นอุบัติเหตุ เด็กชายซึ่งไม่มีการเปิดเผยชื่อรายนี้อยู่ในการดูแลอุปถัมภ์ และเจ้าหน้าที่กำลังพยายามติดต่อกับมารดาผู้ให้กำเนิด


          นับเป็นเด็กรายที่ 6 แล้วที่เสียชีวิตภายในรถยนต์ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดในสหรัฐอเมริกาในปีนี้ โดยเมื่อปี 2561 มีเด็กเสียชีวิต 54 รายจากการถูกทิ้งไว้ในรถยนต์ และในปี 2562 มีเด็กเสียชีวิต 53 ราย ต่อมาในปี 2563 มีเด็กเสียชีวิต 25 ราย


          กลุ่มคิดส์แอนด์คาร์เซฟตี้ (Kids and Car Safety ) ระบุในแถลงการณ์ว่า สาเหตุที่ในปีที่แล้วมีเด็กเสียชีวิตในรถลดลงอย่างมาก เพราะมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลดการเดินทางลง แต่การเสียชีวิตภายในรถก็ยังคงเกิดขึ้น กลุ่มจึงเรียกร้องให้พ่อ แม่ผู้ปกครองเพิ่มการเอาใจใส่ เพราะปัจจัยต่างๆ เช่น ความเหนื่อยล้า ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรอย่างกะทันหัน อาจส่งผลให้ผู้ปกครองทิ้งเด็กไว้ตามลำพังในรถโดยไม่รู้ตัว 


 
ข่าวทั้งหมด

X