การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19ของไทย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยอมรับว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพื่อให้การฉีดวัคซีนของไทยเป็นไปตามเป้า ในไตรมาส 3 จะมีวัคซีนซิโนแวค ที่จะเข้ามาประมาณ 10 ล้านโดสต่อเดือน และวัคซีนซิโนฟาร์ม เข้ามาเพิ่ม ส่วนในไตรมาส 4 จะมีวัคซีนแอสตร้าฯเข้ามา 20 ล้านโดส ส่วนการสั่งจองจากไฟเซอร์ หลังส่งใบจองไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 20 ล้านโดส ได้รับคำตอบว่า อาจจะได้รับในไตรมาสที่ 4 ในขณะนี้ กำลังดูสัญญาที่ประเทศสั่งซื้อจะเสียเปรียบซึ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบผ่านอัยการ และคณะรัฐมนตรีพิจารณา
นพ.นครยอมรับว่า ประเทศไทยมีการจองวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่นทำให้เราได้รับวัคซีนช้ากว่าหลายประเทศ นอกจากนี้เรากำลังศึกษาการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนชนิดเชื้อตายในเด็ก อายุระหว่าง 12-18 ปี รวมถึงการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์กรณีที่จะนำมาฉีดในเด็ก หลังพบว่าการฉีดในเด็กอายุระหว่าง 12-17 ปี ในเข็มที่ 2 เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเกิดในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ดังนั้น การนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดให้เด็ก ประเทศไทยจึงต้องขอศึกษาเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยก่อน
ส่วนการจัดหาวัคซีนว่า มีด้วยกัน 2 ส่วน คือ การวางแผนจัดหาวัคซีน และการขยายศักยภาพการ "ฉีดวัคซีน" ซึ่งทั้ง 2 ส่วนยังคงทำได้ต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาการส่งมอบวัคซีน แม้ว่า วัคซีนแอสตร้าฯจะผลิตในประเทศไทยแต่มีความจำเป็นต้องส่งออกไปประเทศอื่นที่มีการจองวัคซีน แอสตร้าฯที่ผลิตในประเทศไทยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน มีการวางแผนกับ "แอสตร้าฯ" เรื่องการส่งมอบวัคซีนกรมควบคุมโรค ได้ส่งแผนไปที่แอสตร้าฯโดยพิจารณาจากกำลังการฉีดที่จะเพิ่มขึ้นที่หวังจะให้ได้ถึง 10 ล้านโดส หวังว่าจะได้รับการจัดสรรจากแอสตร้าฯ แต่เมื่อไปดูสถานการณ์ความเป็นจริง กำลังการผลิตที่สยามไบโอไซเอนท์ อยู่ที่ 180 ล้านโดสต่อปีเฉลี่ยตกอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อปี และในช่วงแรกของการผลิตวัคซีนไม่เต็มกำลัง แล้วค่อยๆไต่ระดับสูงขึ้น คาดการณ์วัคซีนแอสตร้าฯ เดือนกรกฎาคม และ สิงหาคม "แอสตร้าฯ" คาดว่าจะผลิตวัคซีน 16 ล้านโดสต่อเดือน ในจำนวนนี้ต้องส่งมอบให้ประเทศอื่นด้วย เพราะเป็นนโยบายของบริษัทฯ ที่ต้องการจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึง เพราะฉะนั้นการส่งมอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคมอาจจะได้ไม่ถึง 10 ล้านโดส เบื้องต้นได้รับแจ้งจากรองประธานบริษัทแอสตร้าฯ ไทยจะได้รับเดือนละ 6 ล้านโดส ดังนั้นจำเป็นต้องจัดหาจากที่อื่นเพิ่มเติม ก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกประเทศ ย่อมต้องการวัคซีนเหมือนกันหมด รวมถึงประเด็นไทยผลิตได้ระงับการส่งออกวัคซีนที่ไทยผลิตได้จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ส่วนการกระตุ้นภูมิเข็ม 3 นพ.นคร ระบุว่า โรงเรียนแพทย์กำลังทำการศึกษาว่าจะเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันได้อย่างไร และมีความจำเป็นในการฉีดเข็มที่ 3 ให้กับคนไทยหรือไม่ โดยอาจจะให้กลุ่มเปราะบาง ที่อาจต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ก่อน
สำหรับในวันนี้ นพ.โสภณ เมฆธน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ , นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าว “วัคซีนโควิดไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร”