กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ.2564 (2021 Trafficking in Persons Report) โดยให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 เฝ้าระวัง เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการกำจัดการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ แต่กำลังพยายามอย่างมากที่จะทำเช่นนั้น ทั้งปรับปรุงการประสานงานกับภาคประชาสังคมในการสืบสวนการค้ามนุษย์และการคุ้มครองผู้เสียหาย มีการฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับอัยการและผู้พิพากษาเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวน มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้เสียในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อคุ้มครองเหยื่อและกลไกการส่งต่อระดับชาติ มีการจัดตั้งหน่วยงานตำรวจเพื่อต่อต้านการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กผ่านสื่อออนไลน์ แต่เมื่อเทียบกับรายงานครั้งก่อนพบว่า รัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้น ทั้งพบว่า มีการสอบสวนเรื่องการค้ามนุษย์น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยน้อยลง และมีการตัดสินคดีค้ามนุษย์น้อยกว่าในปี 2562 แม้จะมีรายงานอย่างกว้างขวางว่ามีการบังคับใช้แรงงานในหมู่แรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย รัฐบาลระบุเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา เจ้าหน้าที่มักขาดความเข้าใจเรื่องการค้ามนุษย์ และรัฐบาลยังขาดขั้นตอนมาตรฐานสำหรับผู้ตรวจแรงงานในการส่งต่อคดีที่เป็นไปได้ไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ทางการไทยยังไม่เคยรายงานการระบุตัวเหยื่อการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมงที่ท่าเรือ การให้บริการแก่เหยื่อยังคงไม่เพียงพอ และเหยื่อบางรายที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงของรัฐบาลยังขาดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว มีการทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ และยังมีการตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์ 5 คน ซึ่งทำให้สหรัฐฯ จัดระดับให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า สถานการณ์ของโควิด-19 ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้ปัญหาการค้ามนุษย์มีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีการโยกย้ายทรัพยากรบุคคล และอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ไปสนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุขและสังคมเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ ที่กลายเป็นการเปิดช่องว่างให้ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ประโยชน์จากคนที่อ่อนแอได้โดยง่าย รายงานการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นการจัดลำดับประเทศต่าง ๆ โดยยึดหลักการพิจารณาจากความพยายามในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากผู้คนทั่วโลกเกือบ 25 ล้านคนตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ดังนั้น ปัญหานี้จึงเป็นวิกฤตระดับโลก
โดยในรายงานจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกตามการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือทีวีพีเอ มี 6 ประเทศถูกลดระดับจากระดับเทียร์ 1 เป็นเทียร์ 2 คือ ไซปรัส อิสราเอล นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์
ประเทศระดับเทียร์ 2 ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายแต่กำลังพยายามอย่างมากที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนด ได้แก่ กินี-บิสเซา และ มาเลเซีย
ประเทศระดับเทียร์ 3 ได้แก่ เกาหลีเหนือ อัฟกานิสถาน เมียนมา จีน คิวบา เอริเทรีย อิหร่าน รัสเซีย ซูดานใต้ ซีเรีย และเติร์กเมนิสถาน ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลของกลุ่มนี้ มีนโยบายหรือมีรูปแบบของการค้ามนุษย์ในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งการบังคับใช้แรงงาน การค้าทางเพศในค่ายของรัฐบาล หรือ การจ้างหรือเกณฑ์ทหารเด็ก
นายบลิงเคน กล่าวว่า รัฐบาลควรปกป้องและให้บริการพลเมืองของตน ไม่ใช่ข่มขู่และปราบปรามพวกเขาเพื่อผลกำไร และสหรัฐฯ อาจจำกัดความช่วยเหลือด้านการต่างประเทศแก่กลุ่มเทียร์ 3 ซึ่งขึ้นอยู่กับการอนุมัติของประธานาธิบดี
นอกจากนี้ยังมี 4 ประเทศที่ถอดจากเทียร์ 3 ไปอยู่ในรายการเฝ้าระวังระดับเทียร์ 2 คือ เบลารุส บุรุนดี เลโซโท และปาปัวนิวกินี
โดยในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ ยังมีการระบุว่า หลายประเทศรวมทั้งเคนยา มาเลเซีย และไทย มีการกักขังคนงานชาวเกาหลีเหนือเพื่อบังคับใช้แรงงาน ขณะที่รัฐบาลรัสเซียมีนโยบายสนับสนุนการบังคับใช้แรงงานของคนงานชาวเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน ส่วนจีนยังคงล้มเหลวในการพยายามระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ในกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ
....