นายกฯ ย้ำเรื่องความปลอดภัย หวัง 'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' โมเดลกระตุ้นท่องเที่ยว

01 กรกฎาคม 2564, 12:04น.


          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต อยู่ระหว่างการประชุมติดตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์  พร้อมทั้งให้กำลังใจ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัดทุกฝ่าย ย้ำเรื่องการทำความเข้าใจหลักเกณฑ์และมาตรการต่างๆ ของโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อคัดกรองคนเดินทางเข้าพื้นที่ให้ดี นายกฯ ระบุว่า ในการทำงานถ้าคนไม่พอก็ให้หาคนมาช่วย วันนี้ได้ให้นโยบายกับศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค.ไปแล้ว เรื่องการทำภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ให้สำเร็จ เพื่อเป็นตัวแบบให้ทำในพื้นที่อื่นๆ และต้องยึดตามหลักเกณฑ์ ซึ่งข้อมูลจะมีการลิงก์กันทั้งหมด ขอให้ทำให้ทันสมัย เพราะวันนี้บ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก



          นายกฯ กล่าวว่า ทุกอย่างจะสำเร็จได้ถ้าทุกฝ่ายปฏิบัติร่วมกันด้วยความเข้าใจ แต่หลายอย่างจะเร็วอย่างที่คิดไม่ได้ ต้องมีความปลอดภัยเป็นหลักด้านสุขภาพ ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง ทำหน้าที่ให้สำเร็จ ยิ้มให้เสมอ ประชาชนเขาชอบ ต้องทำด้วยใจ



          ส่วนความพร้อมด่านทางเข้าจังหวัดภูเก็ตในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ท่าฉัตรไชย (ทางบก)  ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทางอากาศ) และ ท่าเทียบเรือวิสิษฐ์พันวา (ทางน้ำ) ตามโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) รวมทั้ง ความพร้อมศูนย์ปฏิบัติการ "EOC Phuket Tourism Sandbox"  ซึ่งเป็น Command Center โดยมีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ พร้อมด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ บริหารจัดการ กำกับติดตามการเดินทางของนักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางมาจากทั้งในและต่างประเทศเข้าพื้นที่ภูเก็ต โดยจะมีระบบเชื่อมโยงกับทุกด่านเข้าออกและเชื่อมโยงศูนย์ประสานงาน ต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลรัฐและเอกชน สถานีตำรวจภูธรจังหวัด ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยว ศูนย์ประสานงานโรงแรม SHA Plus Manager ศูนย์ประสานงานสถานประกอบการ SHA Plus และเชื่อมโยงกับ แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ตลอดเวลาที่พักอยู่ภายใน จ.ภูเก็ต  ซึ่ง EOC Phuket Tourism Sandbox จะเชื่อมโยงกับระบบกับ ศปก. ศบค. และ ศบค.มท. อีกด้วย       



          ศูนย์ดังกล่าวจะตั้งที่ศูนย์บัญชาการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ ดิจิทัลภาคใต้ และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ติดตั้งระบบดังกล่าว เป็นการทำงานบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด



          สำหรับเกณฑ์การรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ตามโครงการ Phuket Sandbox คือ



          นักท่องเที่ยวต่างชาติ  ต้องเดินทางจากประเทศตามประกาศของกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยมีเอกสารการรับวัคซีนจากประเทศต้นทางและเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน ตามกฎหมายไทยหรือที่ WHO รับรอง กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ให้เดินทางมากับผู้ปกครองได้ มีผลการตรวจหาเชื้อ  RT-PCR ก่อนการเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง และมีหลักประกันโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ต้องจองและทำการเข้าพักโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA Plus ไม่น้อยกว่า 14 คืน ซึ่งสามารถเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T-A โดยไม่ต้องกักตัว  ต้องทำการติดตั้ง แอปพลิเคชั่น Morchana บนสมาร์ทโฟน และอนุญาต ให้แชร์การเข้าถึงตำแหน่ง  เมื่อถึงสนามบินภูเก็ต ต้องทำการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR  และต้องเดินทางไปที่พักด้วย รถยนต์ที่ได้มาตรฐาน SHA Plus และไม่อนุญาตให้ออกจากห้องพักจนกว่าจะทราบผลตรวจว่าไม่มีการติดเชื้อ รายงานตัว และรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีก 2 ครั้ง ตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด (วันที่ 6-7 และ 12-13)  เมื่อทำการพักในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตครบ 14 วันแล้ว สามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่นได้  หากพักในภูเก็ตไม่ถึง 14 คืน ต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยเท่านั้น 



          นักท่องเที่ยวชาวไทยหรือผู้มีถิ่นพำนักในประเทศไทย ต้องเป็นผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือ ครบโดสตามจำนวนวัคซีนแต่ละชนิด หรือได้รับวัคซีนชนิดแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 1 มาแล้วครบ 14 วัน (สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เข้าจังหวัดได้โดยไม่ต้องทำการตรวจหาเชื้อโควิด19) หรือได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย วิธีการ RT-PCR หรือ วิธีการ Antigen Test ไม่เกิน 7 วัน หรือเป็นผู้ที่หายจากการป่วยด้วยโรคโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน  90 วัน โดยการแสดงหลักฐานยืนยัน ติดตั้งแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" บนสมาร์ทโฟน และยินยอมเปิดแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต อีกทั้ง ต้องสังเกตอาการตนเอง (Self-Monitoring) และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่ ชุมชน  หรือสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก และให้รักษามาตรการภายใต้ D-M-H-T-T-A



          โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ช่วยอุตสาหกรรมการ ท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องให้สามารถกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ที่ ปลอดภัย เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป



          การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประมาณการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ภายใต้โครงการ  Phuket Sandbox จำนวน 100,000 คน ในไตรมาส 3 (เดือน ก.ค-ก.ย. 64) คาดว่าจะสร้างรายได้อยู่ที่ 8.9 พันล้านบาท



          ตลอดเดือนก.ค.64 มียอดจองของผู้โดยสารที่จะเข้ามาในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ประมาณ 11,894 คน ข้อมูลจาก 6 สายการบิน แบ่งเป็น ผู้โดยสารขาเข้า ประมาณ 8,281 คน ขาออก 3,613 คน คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดประมาณ 426 เที่ยวบิน เฉลี่ยประมาณ 13 เที่ยวบิน/วัน 



          วางพื้นที่เป้าหมายลำดับ ถัดไป คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) เริ่มวันที่ 15 ก.ค.64



          Extension Sealed Route ได้แก่ กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) พังงา (เขาหลัก และเกาะยาว) เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง และดอยเต่า) ชลบุรี (พัทยา บางละมุง และสัตหีบ) บุรีรัมย์ (อำเภอเมือง และสนามช้างอารีนา) ซึ่งจะเปิดในวันที่   1 ก.ย.64



          สำหรับกรุงเทพฯ เพชรบุรี (ชะอำ) และประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) จะเปิดในวันที่ 1 ต.ค.64 และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่กักตัวภายในเดือนต.ค.64 ทั้งนี้ ในแต่ละพื้นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องมาตรการ ข้อกำหนด ข้อปฏิบัติอย่างชัดเจน ก่อนที่จะดำเนินการเปิดรับนักเที่ยวอย่างจริงจังต่อไป



CR:รัฐบาลไทย , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ข่าวทั้งหมด

X