ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2564

01 กรกฎาคม 2564, 05:58น.


ดีเดย์ เริ่มโอนเงิน โครงการคนละครึ่ง เข้าแอปฯ เป๋าตัง งวดแรก 1,500 บาท



          คนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเฟสที่ 3 และ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ทยอยเช็คในแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ของตัวเองได้เลย เริ่มสองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกันในวันนี้



1.โครงการคนละครึ่ง : น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คลังพร้อมโอนเงินเข้าโครงการนี้ผ่านแอปฯเป๋าตัง ให้ผู้มีสิทธิ 25.5 ล้านคน รอบแรกจะโอนก่อน 1,500 บาท เพื่อใช้จ่ายระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.64 และรอบสองโอนวันที่ 1 ต.ค.อีก 1,500 บาท เพื่อใช้เดือน ต.ค.-ธ.ค. 64 รวม 3,000 บาท



-ประชาชนที่ได้รับ SMS ระบุข้อความลงทะเบียนสำเร็จ สามารถใช้สิทธิได้เลย โปรดใช้สิทธิผ่านแอปเป๋าตัง เริ่มวันที่ 1 ก.ค. 64 



-หากเข้าแอปฯเป๋าตัง แล้วขึ้นข้อความว่าไม่พบข้อมูลการลงทะเบียน หรือระบบกำลังดำเนินการตรวจสอบ ขอให้อัพเดทแอปฯ เป๋าตัง เป็นเวอร์ชันล่าสุดก่อนเข้าใช้งาน เมื่ออัพเดทเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันแล้ว จะได้รับข้อความ โครงการคนละครึ่ง สามารถใช้ได้ 1 ก.ค.64



-แต่หากอัพเดทเวอร์ชั่นเป๋าตังแล้ว เจอข้อความ กรุณายืนยันตัวตนเพิ่มเติมเพื่อใช้สิทธิโครงการ ขอให้ไปยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน (ดิป ชิป) กับธนาคารกรุงไทย ด้วยการนำบัตรประจำตัวประชาชนไปยืนยันตัวตนที่สาขา หรือที่ตู้เอทีเอ็มสีเทาของกรุงไทยฯ หรือยืนยันตัวตนผ่านตัวเลือก KrungthaiNext ในแอปฯ เป๋าตัง ส่วนคนที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนไว้แล้วก็ไม่ต้องยืนยันตัวตนในขั้นตอนข้างต้นอีก  





2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ได้รับสิทธิแล้ว 4.2 แสนคน ในวันที่ 1-14 ก.ค.64  ยังคงใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท ขณะที่ คลัง ได้ปรับเงื่อนไขให้สามารถใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10,000 บาท ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้เริ่มทันวันที่ 15 ก.ค.64



          โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รัฐบาลจะสนับสนุนเป็น e – Voucher เมื่อประชาชนใช้จ่ายค่าสินค้าหรือบริการ ได้แก่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ ไม่รวมถึงสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ บัตรกำนัล (gift voucher) บัตรเงินสด (gift card) และสินค้ารูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการล่วงหน้า ผ่าน g-wallet บนแอปฯเป๋าตัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย.64 เวลา 06.00 น. – 23.00 น. ซึ่งสิทธิ e -Voucher จะคืนเป็นวงเงินเข้าใน g – Wallet ทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป สูงสุด 7,000 บาท ต่อคน สามารถใช้จ่ายด้วย e -Voucher ที่ร้านที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. – 31 ธ.ค.64 โดยไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้  



*ยอดใช้จ่ายสะสม 40,000 บาทแรก รับ e -Voucher คืนร้อยละ 10



*ยอดใช้จ่ายสะสม 40,001 – 60,000 บาท รับ e -Voucher คืนร้อยละ 15





CR:ธนาคารกรุงไทย



เริ่มภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์วันแรก ยอดจองห้องพัก15 วันแรก กว่าหมื่นห้อง



          วันนี้ เริ่มเปิดโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยว่ามีสายการบินยืนยันเที่ยวบินไปภูเก็ตแล้ว 4 เที่ยวบิน จาก 4 สายการบิน ได้แก่



-สายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์



-สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์



-สายการบินแอลอัล อิสราเอล แอร์ไลน์



-สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์



-มีนักท่องเที่ยวรวม 400-500 คน



-จากนั้นในวันที่ 2 ก.ค.64 จะมีเที่ยวบินของสายการบินเอมิเรตส์



-วันที่ 3-4 ก.ค.64 จะมีเที่ยวบินของการบินไทยในเส้นทางจากยุโรป เช่น แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก

-ยอดจองห้องพักของภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค. 64 มียอดจองแล้ว 217 ราย



-ในช่วง 15 วัน มียอดการจองแล้ว 1,101 ราย รวมทั้งหมด 13,116 ห้อง โดยเฉลี่ยต่อคนจะพักประมาณ 12 คืน ด้วยกัน



          นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาท่องเที่ยวที่จ.ภูเก็ต ต้องมาจากประเทศที่ได้รับการรับรอง ต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสอย่างน้อย 14 วัน และต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงต่างประเทศในการเดินทางเข้าประเทศ (COE) ต้องพักอยู่ในโรงแรม SHA Plus อย่างน้อย 14 วัน และอยู่ในภูเก็ตอย่างน้อย 14 วัน ก่อนเดินทางไปจังหวัดอื่น



          สำนักงานสาธารณสุข จ.ภูเก็ต รายงานเรื่องการฉีดวัคซีน



-ประชาชนทุกกลุ่ม ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วจำนวนประมาณร้อยละ 82 หรือ 383,158 ราย จากเป้าหมายทั้งหมดของจังหวัด 466,587 ราย



-คนที่ได้รับครบ 2 เข็มอยู่ที่ร้อยละ 64 หรือ 298,344 ราย จากผู้ลงทะเบียนรับวัคซีนทั้งหมด 428,882 ราย 



-กรณีของคนไทย คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าเป็นคนที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน ก็ถือว่ามีภูมิต้านทานที่สามารถเข้ามาได้



-ถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนก็จะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือ Antigen Test แล้วสามารถเข้ามาได้



-ติดตั้งแอปฯ หมอชนะ



-ในส่วนนี้ไม่ได้กำหนดว่าต้องมาอยู่ครบ 14 วัน เหมือนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ



CR:การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย



ยูเอ็น เผย โควิด-19 ทำธุรกิจท่องเที่ยวโลกทรุดกว่า 64 ล้าน คาดฟื้นตัวปีหน้า



          สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวที่ทรุดตัว หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 2,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 64,000,000 ล้านบาท



          นายซูรับ โบโลลิคาซวิลลี เลขาธิการยูเอ็น ดับเบิลยูทีโอ ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้คนหลายล้านคน การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันชุมชนให้มีความปลอดภัยจะฟื้นการเดินทางท่องเที่ยวได้อีกครั้ง



           แม้ว่า ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เร็วในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง เช่น สหรัฐฯ แต่กว่าที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับสู่สภาวะปกติก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร็วที่สุดคือในปี 2565



รพ. 3 แห่ง จะเปิดเตียงไอซียูเพิ่มอีก 50 เตียง



          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังสูง จำนวนผู้ที่รอเตียงยังไม่ดีขึ้น หรือเรียกว่าตึงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามที่จะเปิดเตียงรองรับเพิ่ม



-คาดว่า วันนี้  รพ.ธรรมศาสตร์ วชิระพยาบาล และ รพ.รามาธิบดี จะเปิดเตียงไอซียูเพิ่ม 50 เตียง



-สอดคล้องกับที่แพทย์เฉพาะทางจบใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่พอดี



-รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.ผู้สูงอายุ บางขุนเขียน จะยกระดับเพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลือง แล้วส่งต่อผู้ป่วยสีเขียวไปยังฮอสพิเทลต่อไป



-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สั่งการให้โรงพยาบาลบุษราคัม ขยายเตียงเพิ่มอีก 1,500 เตียง แบ่งเป็นเพิ่มเตียงผู้ป่วยกลุ่มสีแดง 125 เตียง รวมแล้วจะรองรับผู้ป่วยได้ 3,700 เตียง



-นายกฯ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลทั้งการจัดหา การกระจายเวชภัณฑ์และยาเพื่อการรักษาโรคโควิด-19 ไปยังหน่วยบริการให้เพียงพอและทั่วถึง ซึ่งทั้งหมดมีการประมาณการความต้องการและแผนการจัดหา การจัดงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ เช่น กรณีของยาฟาวิพิราเวียร์ มีแผนการจัดหาในเดือน ก.ค.นี้อีก 5,000,000 เม็ด ระหว่างเดือนส.ค -ก.ย. 64 อีก 3,000,000 เม็ด  ส่วนยา Remdesivir จัดหาในเดือน ก.ค. 64 อีก 3,100 ขวด



กรมการแพทย์ เผยผู้ป่วย 30 ราย พร้อมทำ Home Isolation



          หลังจากที่กรมการแพทย์เริ่มให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว รักษาอาการ กักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) ผู้ป่วยแจ้งผ่านสายด่วน 1668 มาประมาณ 30 ราย แต่ไม่ใช่ทุกรายจะได้รับอนุญาตให้ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ ต้องมีการประเมินทั้งเรื่องอาการ ความสามารถในการอยู่คนเดียว และอื่นๆ จะทำเฉพาะในพื้นที่ทีมีปัญหาเรื่องเตียงไม่เพียงพอเท่านั้น หากพื้นที่ใดยังมีเตียงว่างจะต้องรับผู้ป่วยเข้าไปดูแลทั้งหมด



         ขณะที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าอาหาร 3 มื้อ ให้โรงพยาบาลดำเนินการจัดส่งให้ผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองที่บ้าน ซึ่งบางโรงพยาบาล ผูกกับร้านอาหารเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย



ต่อยอด ! ใช้โรงเรียนและศาลาวัด เป็นพื้นที่ให้ผู้ป่วยสีเขียว ดูแลตัวเองในชุมชน



          อธิบดีกรมการแพทย์ มีแนวคิดที่จะทำระบบกักให้ผู้ป่วยสีเขียวดูแลตัวเองในชุมชน (Community Isolation) ร่วมกับภาคประชาชน เพราะต้องยอมรับว่าบางครั้งในบ้าน 1 หลัง อาจจะอยู่กันหลายคนไม่สามารถทำ Home Isolation ได้ ก็จะมีระบบชุมชน ซึ่งอาจจะมีการใช้พื้นที่ห้องประชุมโรงเรียน ศาลาวัด มาทำเป็นจุดสำหรับผู้ป่วยสีเขียวในชุมชนมาดูแลตัวเอง ก็จะมีการแจกปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด และมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ ประสานการดูแลเช่นกัน ถ้าอาการไม่ดี ให้ส่งต่อมาที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้สปสช.อนุมัติให้ชุมชนเบิกค่าชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ได้แล้ว



 



 

ข่าวทั้งหมด

X