แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียวดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์วันนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังสูง จำนวนผู้ที่รอเตียงยังไม่ดีขึ้น หรือเรียกว่าตึงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามที่จะเปิดเตียงรองรับเพิ่ม เช่น ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ วชิระ และ รพ.รามาธิบดี ที่จะเปิดเตียงไอซียูเพิ่ม 50 เตียงนั้น คาดว่าจ ะสามารถเปิดในวันที่ 1 ก.ค.นี้ สอดคล้องกับที่แพทย์เฉพาะทางจบใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่พอดี ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการจัดสรรจำนวนพยาบาลไอซียูเข้ามาช่วย นอกจากนี้ในส่วน รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.ผู้สูงอายุ บางขุนเทียน จะยกระดับเพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลือง แล้วส่งต่อผู้ป่วยสีเขียวไปยังฮอสพิเทลต่อไป เช่นเดียวกับ รพ.ในสงกัดกรมการแพทย์ ที่มีการจับคู่กับโรงแรมแห่งหนึ่งเปิดเตียงรับผู้ป่วยอีกราวๆ 300 เตียง
สำหรับแนวทางการให้ผู้ป่วยอาการสีเขียวดูแลตัวเองที่บ้านนั้น ที่เริ่มดำเนินการไปแล้วนั้น ตอนนี้มีรายงานผู้แจ้งความประสงค์ผ่านสายด่วน 1668 มาประมาณ 30 คนแต่ไม่ใช่ทุกรายจะได้รับอนุญาตให้ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ ต้องมีการประเมินทั้งเรื่องอาการ ความสามารถในการอยู่คนเดียว และอื่นๆ รวมถึงมีรายงานจากทางศิริราช ซึ่งมีผู้ป่วยที่วอล์กอิน เข้ามาตรวจที่ รพ.ศิริราช แล้วพบว่าติดเชื้อประมาณ 100 คน แต่ก็อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ส่วนสังกัด กทม.นั้นยังไม่ได้รับรายงาน อย่างไรก็ตามต้องย้ำว่าการให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านนั้น จะทำเฉพาะในพื้นที่ทีมีปัญหาเรื่องเตียงไม่เพียงพอเท่านั้น หากพื้นที่ใดยังมีเตียงว่างจะต้องรับผู้ป่วยเข้าไปดูแลทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการทำระบบกักให้ผู้ป่วยสีเขียวดูแลตัวเองในชุมชน (Community Isolation) ร่วมกับภาคประชาชน เพราะต้องยอมรับว่าบางครั้งในบ้าน 1 หลัง อาจจะอยู่กันหลายคนไม่สามารถทำโฮมไอโซเลชั่นได้ ก็จะมีระบบชุมชน ซึ่งอาจจะมีการใช้พื้นที่ห้องประชุมโรงเรียน ศาลาวัด มาทำเป็นจุดสำหรับผู้ป่วยสีเขียวในชุมชนมาดูแลตัวเอง ก็จะมีการแจกปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดระดับออกวิเจนกระแสเลือด และมีทีมบุคลากรการแพทย์ประสานการดูแลเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ สปสช. ได้มีการอนุมัติให้ชุมชนเบิกค่าชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ได้แล้ว