การจัดหาวัคซีนโควิด-19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันนี้วัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีก 1 ล้านโดส และสัปดาห์นี้แอสตร้าเซนเนก้าจะส่งรวม2 ชิปเมนท์ ประมาณ 1.4 ล้านโดส ดังนั้นโดยสรุปเดือนมิ.ย. มีวัคซีนเข้ามา 9 ล้านโดส
ส่วนข้อเสนอของกลุ่มบุคลากรการแพทย์ ราชวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล จัดหาวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาเนื่องจากสามารถป้องกันไวรัสโควิด – 19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ได้ นายอนุทินชี้แจงว่า อยู่ในขั้นตอนการเจรจาขั้นสุดท้าย หรือสัญญาซื้อขายกับทางบริษัทไฟเซอร์ หลังจากคราวที่แล้วเซ็นเทอมชีท หรือหนังสือเหมือนเอ็มโอยู แต่ยังมีบางข้อความที่สำนักอัยการสูงสุดเร่งตรวจสอบอยู่และให้กรมควบคุมโรคเร่งเจรจา
แต่ยังไม่ได้กระทบกับการจัดส่ง เพราะมีข้อกำหนดอยู่ในสัญญาว่าจะส่งในไตรมาส 4 เพราะฉะนั้นวัคซีน mRNA ที่ใกล้มือเราที่สุดตอนนี้คือไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส พร้อมส่งกำลังให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย อ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ที่พัฒนาวัคซีน mRNA ในส่วน ของจุฬาฯ ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก คาดหวังว่าจะนำมาใช้ได้ในอนาคตอันใกล้
ส่วนกรณีวัคซีน mRNA จัดหาวัคซีนให้ไทยไม่ได้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะไปเจรจรากับประเทศอื่นที่มีวัคซีนจำนวนเพียงพอแล้วเพื่อซื้อต่อมาใช้ในประเทศไทย เช่นเดนมาร์คซื้อต่อจากโรมาเนีย คล้ายเป็นการเจรจารัฐต่อรัฐ นายอนุทิน กล่าวว่า ตามกฎหมายผู้นำเข้าวัคซีนมา ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนนำเข้า เช่น หากจะซื้อวัคซีน mRNA ก็ต้องติดต่อกับไฟเซอร์ประเทศไทย แม้กระทั่งส่วนที่อเมริกาจะบริจาคให้ไทย 1.5 ล้านโดส ในเดือนก.ค.นี้ ยังต้องปรากฏในสัญญาให้ไฟเซอร์เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะต้องนำวัคซีนออกมาจากโรงงานโดยตรง
สำหรับการเจรจานำเข้าวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นั้น ทางบริษัทมีการส่งเทอมชีท (Term sheet) มาที่เราแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ลงนามร่วมกัน เนื่องจากยังไม่สามารถติดต่อกับบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัดได้ คาดว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนอาจเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือร่วมกันของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์ของไทย ได้มีการเตือนซึ่งต้องฟังเพราะจะไม่เอาประชาชนมาเป็นหนูทดลอง