สำนักข่าวซินหัว รายงานผลการศึกษาเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันจันทร์นี้ ถึงผลการวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐฯ พบหลักฐาน ระบุว่า การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้จากการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา มีความแข็งแกร่งและอาจคงอยู่ได้เป็นระยะเวลานาน
จากการรวบรวมตัวอย่างเซลล์จากผู้รับวัคซีนไฟเซอร์ 14 คน ในช่วงสัปดาห์ที่ 3, 4, 5 และ 7 หลังฉีดวัคซีนโดสแรก โดยผู้เข้าร่วมทดลอง 10 คนยังได้ให้ตัวอย่างเซลล์เพิ่มเติมในช่วงสัปดาห์ที่ 15 อีกด้วย อย่างไรก็ดีผู้เข้าร่วมทดลองทั้งหมดไม่เคยติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 มาก่อน ในสัปดาห์ที่ 3 หลังฉีดวัคซีนโดสแรก ร่างกายของผู้เข้าร่วมทั้ง 14 คนได้สร้างศูนย์กลางเจอร์มินอล (Germinal Center) ที่มีเซลล์บี (B Cells) ซึ่งจะผลิตแอนติบอดีเพื่อดักจับโปรตีนของไวรัสโควิด-19 โดยกลไกดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมากหลังได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นและจะยังคงอยู่ในระดับสูงเรื่อยมา แม้กระทั่งในสัปดาห์ที่ 15 หลังฉีดวัคซีนโดสแรก ผู้เข้าร่วม 8 ใน 10 คน ยังคงมีศูนย์กลางเจอร์มินอลและเซลล์บีก็ยังคงอยู่
การรวบรวมตัวอย่างเลือดจากผู้รับวัคซีนไฟเซอร์ 41 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 8 คนเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน โดยตัวอย่างเลือดนั้นจะถูกเก็บก่อนพวกเขาเข้ารับวัคซีนแต่ละโดส รวมทั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 4, 5, 7 และ 15 หลังฉีดวัคซีนโดสแรกโดยในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ระดับแอนติบอดีจะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ หลังฉีดวัคซีนโดสแรก และแตะระดับสูงสุดช่วง 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนโดสที่สอง
ส่วนกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้นมีแอนติบอดีในเลือดก่อนฉีดวัคซีนโดสแรกอยู่แล้วและระดับแอนติบอดีของพวกเขาจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังฉีดวัคซีนโดสแรก และสูงกว่าระดับของผู้ที่ไม่ติดเชื้อ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนยังทำให้เกิดแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในระดับสูง ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เบตา (Beta) จากแอฟริกาใต้ที่ดื้อต่อวัคซีนบางตัว
ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนส่วนใหญ่ และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างและปล่อยสารโปรตีนของเชื้อไวรัส อย่างเช่นโปรตีนหนามของไวรัสโควิด