นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และนอกระบบ ในกิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ในระยะเวลา 1 เดือน โดยใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท
สำหรับกิจกรรมและการบริการด้านอื่นๆ นั้น จะรวมกิจการในส่วนของการซ่อมต่างๆ อาทิ ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์อุปกรณ์สื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน ซ่อมรองเท้า ซ่อมเครื่องหนัง ซ่อมเฟอร์นิเจอร์ ซ่อมนาฬิกา รับแก้ไขเสื้อผ้า-เครื่องแต่งกาย ซ่อมจักรยานยนต์ ซ่อมเครื่องดนตรี ซ่อมเครื่องกีฬา รวมถึงกิจกรรม อย่างเช่น สปา การบริการลดน้ำหนัก การแต่งผม ดูแลความงาม แต่งเล็บมือ-เท้า บริการซักรีด ดูแลสัตว์เลี้ยง ทั้งหมดอยู่ในส่วนหนึ่งของกิจกรรมและการบริการด้านอื่นๆ ที่จะได้รับเยียวยาด้วยดังนี้
สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ
-กลุ่มแรก คือ แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้างตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณี ว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่ แต่ไม่เกิน 90 วัน
-กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และ
-กลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.64 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียน ผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือน ก.ค.เช่นกัน โดยผู้ประกอบการ จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.นี้