ดร.มาร์ค เฟอร์ริส ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขประจำสถาบันวิจัยของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่าคุณภาพของหน้ากากอนามัยที่บุคลากรทางแพทย์สวมใส่ขณะปฏิบัติงานดูแลคนไข้โควิด-19 ในโรงพยาบาล เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 จากคนไข้อย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยเกรดมาตรฐานที่เรียกว่า FFP3 ซึ่งทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ออกแบบมาเป็นพิเศษ มีจุดเด่นคือกันละอองฝอยในอากาศที่อาจจะมีเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อน ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าเป็นอีกจุดหนึ่งของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนักวิจัยได้ออกแบบหน้ากากอนามัยให้มีลักษณะใส่กระชับกับใบหน้าตลอดเวลา สามารถช่วยป้องกันโรคได้ร้อยละ 100
ตรงกันข้าม บุคลากรทางการแพทย์ที่สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ทั่วๆไป(surgical masks) แม้จะมีจุดเด่นเช่น กันสารคัดหลั่งที่เป็นของเหลว แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อโรคโควิด-19 จากคนไข้เนื่องจากไม่สามารถกรองละอองฝอยในอากาศที่อาจจะมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนหลุดเข้าสู่ทางเดินหายใจ
ก่อนหน้านี้ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เริ่มออกแบบหน้ากากอนามัยรุ่น FFP3 หลังโรคโควิด-19 ระบาดระลอกที่ 3 ในอังกฤษเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสสูงถึง 47 เท่า เมื่อเทียบกับบุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19
Cr: bbc