พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เบตา รายแรกในกทม.
วันนี้ 11.00 น.ติดตามการแถลงของนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงชี้แจงกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เบตา(แอฟริกาใต้) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คน ถือเป็นรายแรกที่มีรายงานพบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นมีความเชื่อมโยงมาจากผู้ติดเชื้อที่ จ.นราธิวาส
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เป็นส่วนใหญ่
นายกฯประชุมด่วน ! ทีมศก. เลขาฯสศช.ยืนยัน ไม่เลื่อนคนละครึ่งเฟส 3
วันนี้เป็นวันแรกที่มาตรการคุมโควิด-19 มีผลบังคับใช้ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ รวม 10 จังหวัด 1 ในมาตรการ คือ ห้ามนั่งทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านให้ซื้อนำกลับบ้าน ทำให้ในวันนี้เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมด่วนคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เพื่อหามาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ภายหลังมีคำสั่งยกระดับมาตรการเป็นการชั่วคราว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เป็นการอัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ พร้อมทั้งปฎิเสธข่าวที่ระบุว่า จะมีการเลื่อนโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค. 64 ออกไป ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง และไม่มีเหตุผลที่จะเลื่อนโครงการนี้ออกไปตามที่มีข่าวลือออกมา ได้คุยกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่มีการเลื่อน โดยจะให้วงเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังและเริ่มใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 นี้ เป็นต้นไป
หอการค้า ประเมินศก.เสียหาย 3-6 หมื่นล้าน จากมาตรการคุมโควิด-19
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มาตรการที่ประกาศและมีผลบังคับใช้ทันที เป็นการคุมสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจในการเปิดประเทศในอนาคต การประกาศครั้งนี้ถึงแม้จะจำกัดบางพื้นที่ แต่หลายธุรกิจกระทบซ้ำ สะสมมาหลายระลอก โดยเฉพาะ ร้านอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคบริการที่อาจจะตกงานในอนาคตอีก เพราะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด ที่สำคัญต้องติดตามมาตรการเยียวยาประคองธุรกิจ
การประเมินความเสียหายเบื้องต้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินไว้ว่าจะเสียหายเพิ่มจากเดิม ประมาณวันละ 1,000-2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มจากเดิมมาก เพราะรัฐบาลเพิ่งคลายกฎให้กลับมานั่งทานในร้านอาหารได้ร้อยละ 50 ไม่นานนัก โดยคำนวณแล้วจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 30,000-60,000 ล้านบาท กระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 0.1-0.3
ส.ภัตตาคารไทย วอนรัฐ ซื้อข้าวกล่องแจกแคมป์
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึง คำสั่งให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เฉพาะนำกลับไปทานที่บ้านเป็นเวลา 1 เดือน ว่าสิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยแบบเฉพาะหน้าในตอนนี้เลย คือให้รัฐบาลจัดสรรเงินไม่ว่าจะเป็นเงินของรัฐหรือรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน นำไปจัดซื้อข้าวกล่องจากร้านอาหารวันละ 200,000 กล่อง ในราคากล่องละ 50 บาท เท่ากับใช้เงินวันละ 10 ล้านบาท หรือเดือนละ 300 ล้านบาท มาช่วยพยุงร้านอาหารในช่วง 1 เดือนนี้ก่อน รัฐบาลสามารถเอาอาหารไปแจกที่แคมป์คนงานก่อสร้างที่รัฐบาลสั่งปิดก็ได้
วันนี้ จ. เชียงใหม่ ออกประกาศให้คนที่เดินทางจาก 10 จังหวัด กักตัว 14 วัน
นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึง มาตรการการเดินทางเข้า-ออก จังหวัดเชียงใหม่ ของผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ตามมาตรการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่
-เพิ่มด่านตรวจทางถนนที่ด่านอำเภอสารภี และด่านดอนจั่น อำเภอเมืองเชียงใหม่ จากเดิมที่มีการตรวจที่สนามบิน สถานีขนส่งอาเขต และสถานีรถไฟ โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาจะต้องสแกนและกรอกข้อมูลใน CM-CHANA ก่อนออกจากจังหวัดต้นทาง และให้นำมาแสดงที่ด่านตรวจ แต่หากยังไม่ลงทะเบียน จะมีการแจกแบบฟอร์ม CM-CHANA ให้กรอกที่ด่านแรกอำเภอสารภี แล้วนำไปยื่นที่ด่านที่สอง ด่านดอนจั่น อำเภอเมือง
-ให้ตรวจหาเชื้อ (Swab) ที่โรงพยาบาลทุกราย
-ผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้วก็ต้องกักตัว แต่ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ ยกเว้นหากมีอาการ
-กรณีผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.เชียงใหม่ ให้ทำการ Home Quarantine อยู่ในสถานที่พักของตนเองเป็นเวลา 14 วัน
-กรณีไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จะต้องกักตัวอยู่ในสถานที่ที่ทางราชการกำหนด โดย จ.เชียงใหม่ ได้ใช้พื้นที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 1 เป็นสถานที่กักตัว (ALQ) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสามารถใช้สถานที่กักกันทางเลือกซึ่งเป็นโรงแรมที่ผ่านการประเมินแล้ว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงแรม BP City โรงแรม เมาเท่นครีก โรงแรม ชาลา No.6 โรงแรมรัตนโกสินทร์ และโรงแรมกลุ่มล่ามช้าง แต่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะได้ออกเป็นประกาศของจังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้ 28 มิ.ย. 64
อุดรฯ ปิดโรงเรียนทั้งจังหวัด กักตัวคนที่มาจากพท.เสี่ยงใน Local Quarantine
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจ. อุดรธานี ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ออกมาตรการควบคุมไม่ให้การติดเชื้อแพร่กระจาย
-ปิดโรงเรียนทั้งจังหวัด เพื่อความปลอดภัย
-ตั้งจุดคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสาร เครื่องบิน
-ทุกคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน ใน Local Quarantine ไม่ให้กักตัวที่บ้าน ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งการเดินทางแบบไปกลับ ยกเว้นคนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ครบ 4 สัปดาห์ แอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม
ชัยภูมิ พบคนงานจากแคมป์คนงานติดเชื้อเกือบ 10 คน
กลุ่มแรงงานรีบพากันแห่ออกจากแคมป์คนงานเดินทางกลับบ้านในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีคนงานจากกรุงเทพมหานครเดินทางกลับจำนวนมาก กลุ่มแรงงานที่เดินทางมาถึงพื้นที่ส่วนใหญ่มารายงานตัวและตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 ในหลายพื้นที่เพิ่มขึ้น นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ รายงานสถานการณ์
-ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 9 คน
-ผู้ป่วย 2 คน อยู่ที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ กลับมาจากแคมป์คนงานก่อสร้าง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
-ผู้ป่วย 1 คน อยู่ที่ อ.เมือง เดินทางกลับมาจากแคมป์คนงานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้าพระราม 9 กรุงเทพมหานคร
-ผู้ป่วย 5 คน อยู่ที่ อ.หนองบัวระเหว เป็นผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก
ตม.กาบเชิง สุรินทร์ จัดระเบียบ เร่งผลักดันแรงงานกัมพูชากลับประเทศ
บริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ นายจ้างนำแรงงานชาวกัมพูชาราว 200 คน ที่ไปทำงานก่อสร้างในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดมาทิ้งไว้ตามข้างทาง หน้าตลาดโอท็อป อบจ.สุรินทร์ และอีกหลายจุดใน อ.กาบเชิง เจ้าหน้าที่ตม.กาบเชิง ต้องควบคุมแรงงานไปอยู่ที่ด้านข้าง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง เพราะเกรงว่าจะมีแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 นำมาแพร่ระบาดประชาชนในพื้นที่
เจ้าหน้าที่ตม.ระบุว่าเป็นวันแรกที่พบแรงงานชาวกัมพูชากลับประเทศจำนวนมากกว่าปกติถึงเท่าตัว หลังการซักประวัติและตรวจหาเชื้อ ไปจนถึงการผลักดันกลับประเทศ ไม่ให้ออกนอกเส้นทาง เกรงจะมีเชื้อและนำไป ติดประชาชนในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ใช้ทั้งรถกระบะ รถบรรทุก 6 ล้อ รถควบคุมผู้ต้องหา และรถบัสขนส่งแรงงานและสัมภาระเพื่อผลักดันออกไป พร้อมขอความร่วมมือนายจ้างหรือโชเฟอร์ที่ขับรถมาส่งแรงงานให้นำแรงงาน ไปส่งที่สำนักงานตม.กาบเชิง เพียงจุดเดียวด้วยเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมโรคและผลักดัน