สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (Coordination of Humanitarian Affairs : OCHA) รายงานว่า ประชาชนประมาณ 230,000 คนกลายเป็นผู้อพยพโยกย้ายที่อยู่เนื่องจากการต่อสู้และความรุนแรงในเมียนมาในปีนี้ และต้องการความช่วยเหลือ
เมียนมาตกอยู่ในภาวะวิกฤตนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ โดยมีการประท้วงและเหตุปะทะกันระหว่างหลายฝ่ายเกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมฯ รายงานว่า การทำงานด้านมนุษยธรรมพบอุปสรรคสำคัญจากการปะทะกันด้วยอาวุธ ความรุนแรง และความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้น เฉพาะในรัฐกะเหรี่ยงที่มีแนวพรมแดนที่ติดต่อกับประเทศไทย พบผู้อพยพมากถึง 177,000 คน ซึ่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Union : KNU) ซึ่งเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยของเมียนมา แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพลเรือน และความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วเมียนมา
สมาคมเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Association for Political Prisoners : AAPP) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 877 รายและอีกมากกว่า 6,000 คนถูกจับกุมตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ขณะที่ความพยายามทางการทูตของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อยุติวิกฤตและเริ่มการเจรจาอยู่ในภาวะหยุดชะงัก เมื่อผู้นำเมียนมายืนยันแผนฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยและจัดการเลือกตั้งในอีก 2 ปี
....
ภาพจาก mmpeacemonitor.org