ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30น.วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564

24 มิถุนายน 2564, 07:16น.


กรมชลฯ ลงพท.ชัยนาท-นครสวรรค์ จัดสรรน้ำตามรอบเวรให้ผู้ใช้น้ำคลองชัยนาท-ป่าสัก ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง



          ปัญหาปากท้อง น้ำกินน้ำใช้ เป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบให้ประชาชน กรมชลประทาน ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภาวะฝนทิ้งช่วงโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)



         นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักไม่เพียงพอในการทำการเกษตรได้อย่างเต็มศักยภาพ จำเป็นต้องจัดสรรน้ำตามรอบเวร เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม



          อธิบดีกรมชลประทาน สั่งการทุกโครงการชลประทาน เร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจพร้อมวางแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและประชาชนในพื้นที่



          ด้านนายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 พูดคุยกับกลุ่มเกษตรกร 3 อำเภอ ได้แก่ อ.มโนรมย์ อ.เมือง จ.ชัยนาท และ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์) ที่ใช้น้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งลำน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือนร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภครวมถึงน้ำเพื่อการเกษตร จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่ไม่สามารถควบคุมได้



          กรมชลประทานจะดำเนินการส่งน้ำตามรอบเวร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และช่วยเหลือการประปาส่วนภูมิภาค/การประปาของท้องถิ่น ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ควบคู่ไปกับวางแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าด้วย



กนง.มองศก.ไทยเปราะบาง เร่งปรับโครงสร้างหนี้ กระตุ้นรัฐ ใช้มาตรการพยุงศก.



          เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเปราะบาง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)



-คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี



-ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปีหน้า 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.8 และปี 2565  ขยายตัวร้อยละ 3.9



          นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง.เปิดเผยว่า คณะกรรมการประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม



-ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ



-คณะกรรมการเห็นว่าการเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ



-มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐจึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจและดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง



-ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า



-คณะกรรมการพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด



ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คาดส.ค.จัดสรรวัคซีน ซิโนฟาร์ม ได้ครบ



          การบริหารจัดการและเร่งฉีดวัคซีน ลดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลาย และส่งผลต่อความมั่นใจของเศรษฐกิจ



          วัคซีนตัวเลือกจากบริษัทซิโนฟาร์ม ที่ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จำนวน 1,000,000 โดส ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดส่ง เพื่อเตรียมฉีดตามกำหนดในวันพรุ่งนี้



         ส่วนการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ระยะที่ 1 ครั้งที่ 2 ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า  มีองค์กร/บริษัทได้รับการจัดสรรเพิ่ม 1,238 บริษัท จำนวนบุคคล 302,618 คน รวมจำนวนที่จัดสรรครั้งแรก 6,437 บริษัท จำนวนบุคคล 779,300 คน เว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ระหว่างประสานให้จัดกลุ่มลำดับความสำคัญ จะทยอยจัดสรรให้ ไม่ได้ทั้งหมดในครั้งเดียว



          การจัดสรรให้ทุกองค์กรต่อไปเมื่อทราบกำหนดเวลาและจำนวนโดสวัคซีนที่จะมาในเดือน ก.ค.-ส.ค.64 คาดว่า น่าจะจัดสรรให้ได้ครบทุกบริษัท/องค์กรภายในเดือน ส.ค.64 เป็นอย่างช้า เว้นแต่ อปท.อาจจะไม่ได้ทั้งหมดตามที่ขอมาเพราะต้องขอดูกลุ่มที่จัดลำดับความสำคัญมาก่อน เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนวัคซีนหลัก



          กลุ่มโอกาสน้อยที่จะได้รับจากที่บริษัทองค์กรบริจาคไว้ร้อยละ 10 มี 5 กลุ่มคือ ผู้พิการ ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง/บ้าน พระ นักบวช ชุมชนแออัด/หาบเร่แผงลอย/ร้านอาหาร/ร้านค้าริมถนนและผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบนัดหมายวัคซีนหลัก เมื่อทราบจำนวนชัดเจน จะหาสถานพยาบาลต่างๆที่มีใจอาสาช่วยฉีดให้ในทุกจังหวัด



          การจัดสรรให้บุคคลทั่วไป ขอเวลา 2-3 อาทิตย์หลังเริ่มฉีดให้กลุ่มองค์กร เพื่อดูระบบและมาตรฐานโรงพยาบาลต่างๆ ที่จะรับคนทั่วไปเข้าไปขอรับวัคซีนโดยจ่ายเงินเอง



กทม.เตียงผู้ป่วยทุกสีเกือบเต็ม ผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้น



          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์เตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลรัฐทุกระดับสีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทุกแห่งเกือบเต็มแล้ว โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีแดงในกรุงเทพมหานคร เหลือประมาณ 20 เตียง จากเดิมที่เคยคาดการณ์การระบาดระลอกเดือน เม.ย. 64 จะมีเตียงรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มวันละ 400-500 คน ขณะนั้น แต่ละโรงพยาบาลได้แบ่งเตียงไอซียูในทุกสังกัดเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 200 กว่าเตียงเป็น 440 เตียง รวมถึงการแบ่งโซน 6 พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อดูแลผู้ป่วยและบริหารจัดการเตียงร่วมกัน



          แต่ 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นทุกวันมากกว่าพันคน ทำให้เตียงรองรับผู้ป่วยทุกระดับสีเกือบวิกฤต อีกทั้งแนวโน้มกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองอาการหนักขึ้นกลายเป็นสีแดงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออัตราครองเตียงสีแดงเพิ่มขึ้นด้วย



          ขณะที่ โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร 100-200 แห่ง แม้จะมีห้องไอซียูรองรับได้แห่งละ 1-2 เตียง แต่ปัญหาสำคัญคือ ขาดบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแล เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้มาจากโรงพยาบาลรัฐที่มาทำงานนอกเวลา บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตอนนี้ ทำงานเกินกำลังแล้ว



         กรมการแพทย์ เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์เตียงของโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯและปริมณฑล วันที่ 21 มิ.ย.64



-ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง อย่างห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง ว่าง 46 เตียง



-หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง



-ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง ว่าง 34 เตียง



-ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง



-ห้องสามัญ ครองเตียง 6,582 ว่าง 1,458 เตียง



-ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง 10,263 ว่าง 3,267 เตียง



สธ.เร่งยกระดับ รพ.สนาม ใช้ศูนย์นิมิบุตร รองรับผู้ป่วยสีเหลือง



          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึง การบริหารจัดการเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่อยู่ในระดับวิกฤตว่าสิ่งที่กำลังเร่งดำเนินการ คือ ต้องเปิดเตียงและห้องไอซียู โรงพยาบาลหลักให้มากที่สุด ยกระดับเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่แล้วใน 4 มุมเมืองรอบกรุงเทพมหานครให้เป็นแบบ รพ.บุษราคัม ให้มากขึ้น หากพิจารณา รพ.ที่รองรับ 5 แห่ง แห่งละ 200 เตียง จะรองรับได้ประมาณ 1,000 เตียง พอๆกับศักยภาพ รพ.บุษราคัมที่รองรับได้ราว 1,200เตียง เพราะเดือน ส.ค.64 รพ.บุษราคัม ต้องคืนให้กับอิมแพคอารีนา



         นอกจากนี้ อาจยกระดับศูนย์นิมิบุตรหรืออินดอร์สเตเดี้ยม รองรับผู้ป่วยสีเหลือง ต้องทำทุกอย่างให้ทันกับสถานการณ์



CR:กรมการแพทย์ 



 

ข่าวทั้งหมด

X