ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2564

23 มิถุนายน 2564, 19:11น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2564  



ต้นเดือน ก.ค. รู้ราคา‘โมเดอร์นา'อภ.อยู่ระหว่างร่างสัญญาซื้อขาย รพ.เอกชนสั่งซื้อมากกว่า 5 ล้านโดส คาดนำเข้าไตรมาส4-ม.ค.65



          การจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่าการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา เป็นอีกหนึ่งวัคซีนทางเลือก องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานภาครัฐ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจัดซื้อระหว่างบริษัทซิลลิก ฟาร์มา จำกัด กับโรงพยาบาลเอกชน ตามแนวข้อกำหนดการดำเนินงานของบริษัทโมเดอร์นาต่างประเทศ โดยองค์การฯไม่ได้เป็นผู้นำเข้า และขณะนี้องค์การเภสัชกรรมอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญา ระหว่างองค์การฯ กับบริษัทซิลลิกฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศใกล้เสร็จแล้ว  เช่นสัญญาซื้อขาย สัญญาบริการ



          หลังจากนั้นองค์การเภสัชกรรมจะส่งร่างสัญญาซื้อขายดังกล่าวให้อัยการสูงสุดพิจารณา คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาซื้อขาย (Supply Agreement) กับบริษัทซิลลิก ฯ ได้ในต้นเดือนสิงหาคม 2564



          เบื้องต้น ได้มีการชี้แจงแนวทางการดำเนินการดังกล่าวให้กับทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า องค์การฯ จะได้รับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาจากบริษัทซิลลิก ฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตทะเบียนวัคซีนในประเทศไทยจำนวน 5 ล้านโดส โดยทางบริษัทซิลลิกฯ จะทยอยจัดส่งให้องค์การฯ ในไตรมาสที่ 4/2564 ถึงเดือนมกราคม 2565



          จากการประสานงานกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อคาดการณ์การจองวัคซีนอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า จำนวนที่จองมีมากกว่าจำนวนวัคซีนที่จะนำเข้า ดังนั้นโรงพยาบาลจึงขอกลับไปทบทวนเพื่อปรับจำนวนการสั่งซื้ออีกครั้ง และภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อภ.จะมีการประชุมบอร์ด ซึ่งจะมีความชัดเจนเรื่องราคาที่จำหน่ายให้กับโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นราคาที่รวมค่าจัดเก็บ ค่าขนส่ง ค่าประกันภัยรายบุคคลฉีดวัคซีน และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว  และจะแจ้งให้โรงพยาบาลรับทราบภายในต้นกรกฎาคม 2564 เพื่อให้แจ้งยืนยันจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 เมื่อรับคำสั่งซื้อพร้อมงบประมาณจากโรงพยาบาล องค์การฯ จะเซ็นสัญญาสั่งซื้อกับบริษัทซิลลิกฯ คาดว่าประมาณเดือนสิงหาคม 2564



ซิโนแวค 2 ล้านโดสถึงกทม.แล้ว



          เพจเฟซบุ๊ก Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า “วัคซีนซิโนแวคชุดใหม่จำนวน 2 ล้านโดส ส่งถึงกรุงเทพฯ แล้ว



          ปัจจุบัน จีนได้จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประเทศไทยแล้วจำนวน 12 ชุด รวมทั้งสิ้น 10.5 ล้านโดส วัคซีนจีนจะช่วยชาวไทยต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยสู้ ๆ”



เอกชนขานรับ'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' เสนอ แพ็กเกจ'พักต้น-ดอก-เติมทุน'



          ผลการหารือระหว่างพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับภาคเอกชนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ตอบรับแนวทางนโยบายการเปิดประเทศ 120 วัน พร้อมสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามแผนเปิดประเทศ และจะใช้ “ภูเก็ตโมเดล” เป็นต้นแบบ ในการจัดทำมาตรการให้สามารถเปิดพื้นที่เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพ พร้อมเตรียมธุรกิจที่อยู่ในซัพพลายเชนของการท่องเที่ยว รองรับการเปิดประเทศด้านการท่องเที่ยว อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าของขวัญของที่ระลึก ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ให้ความมั่นใจว่าจะดูแลและป้องกันสุขภาวะในสถานประกอบการ เพื่อป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการและแรงงานด้วย

          ด้าน สภาหอการค้าไทยได้นำเสนอมาตรการระยะสั้นและวางรากฐานช่วย SMEs ไทย อาทิ การปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ผ่านผู้ประกอบการค้าปลีก ปลดล็อคลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร/NPL เข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้รัฐผ่อนคลายกฎระเบียบให้สถาบันทางการเงิน มีอิสระในการใช้ดุลยพินิจมากขึ้น ขณะที่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยนำเสนอมาตรการเร่งด่วนเข้าถึงแหล่งทุนและลดการว่างงาน อาทิ ทั้งการพักต้น-พักดอก-เติมทุน มาตรการสร้างงานสร้างเศรษฐกิจชาติ (Thailand e-Job Platform) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอ 8 แนวทาง 3 ด้านสำคัญ คือ ด้านการเงิน อาทิ มาตรการสินเชื่อ Supply Chain Factoring โครงการจำนำสต็อกสินค้า ขยายผลมาตรการจาก พ.ร.ก. Soft Loan



กนง.ลดจีดีพีปีนี้เหลือ ร้อยละ 1.8 ดึงหุ้นไทย หลุดระดับ 1,600 จุด



          ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดวันนี้ที่ระดับ 1,592.08 จุด ลดลง 7.15 จุด (-0.45%) มูลค่าการซื้อขาย 77,735.03 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลง หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้แค่ร้อยละ1.8 และปี 65 อาจขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ3.9  สะท้อนการฟื้นตัวชะลอลง และยังคาดการณ์ปีนี้ไทยพลิกขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาดว่าจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์



          โดย กนง.ยังกังวลการท่องเที่ยวฟื้นได้ช้ากว่าคาด จึงปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือ 7 แสนคนในปีนี้ จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 3 ล้านคน เป็นผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศยังสูง และการฉีดวัคซีนต่ำกว่าเป้าหมาย อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากการชุมนุมทางการเมืองในวัน พรุ่งนี้ด้วย ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด



          ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียวันนี้เคลื่อนไหวในแดนบวกเป็นส่วนใหญ่  ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดพุ่งในวันนี้ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้คำมั่นว่า เฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ดัชนีฮั่งเส็งปิดที่ 28,817.07 จุด เพิ่มขึ้น 507.31 จุด



          ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดปรับตัวลงเล็กน้อยในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้นท่ามกลางความระมัดระวังเกี่ยวกับการไล่ราคาหุ้นขึ้น แม้คลายความวิตกลงแล้วก็ตามเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าคาด ปิดตลาดที่ระดับ 28,874.89 จุด ลดลง 9.24 จุด 



เปิดยุทธศาสตร์ ‘ขนมครก’ สมุทรปราการ จัดโซน- เฝ้าระวังเฉพาะที่



          มาตรการรับมือแพร่ระบาดโควิด-19 นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม สำหรับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นการใช้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ เริ่มด้วยยุทธศาสตร์ “ขนมครก” โดยทำการเฝ้าระวังเฉพาะกลุ่มเฉพาะพื้นที่ (Sentinel Surveillance) จำนวนประชากร ประมาณ 5% ในคลัสเตอร์หากพบประชากรติดเชื้อ และใช้วัคซีนในการป้องกันควบคุมโรค ซึ่งจะใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ส่วนการควบคุมโรคในกลุ่มประชากรกลุ่มที่เป็นไข่ขาว ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสี่ยง และกลุ่มไม่ติดโรค โดยให้กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน เหมาะสมว่าพื้นที่ใดเป็นไข่แดง พื้นที่ใดเป็นไข่ขาว และจัดทำแผนที่เป็นวงให้น้อยที่สุดแต่สามารถควบคุมโรคได้ รวมทั้งการพิจารณาการตรวจหาเชื้อโควิด ของหน่วยราชการอื่นหรือภาคเอกชนด้วยวิธีใดๆ ในจังหวัด ในกลุ่มแรงงาน ให้ผ่านเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และพิจารณาให้มีการทำในรูปแบบ Sentinel Surveillance ในโรงงานอุตสาหกรรมที่คณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัดกำหนด



          Bubble and seal ให้มีการจำแนกโรงงานออกเป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ดำเนินการสุ่มผู้ใช้แรงงานตามบริบทของโรงงาน โดยเบื้องต้นจำแนกผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษาพยาบาล กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นกลุ่มแข็งแรงอย่าให้มีการติดเชื้อจากภายนอก และไม่ต้องปิดโรงงานให้ประกอบกิจการตามปกติ ดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน โดยเจ้าของสถานประกอบการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินงาน รวมทั้งให้ฉีดวัคซีนประชาชนกลุ่มที่ไม่เสี่ยง/เสี่ยงต่ำที่อยู่รอบๆ โรงงาน และการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งภายในจังหวัดและข้ามจังหวัด โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว



          ยุทธศาสตร์ด้านการจัดบริการรักษาพยาบาล โดยให้มีการวิเคราะห์ และจำแนกกลุ่มผู้ป่วย สีเขียว สีเหลือง และสีแดง การวิเคราะห์จำนวนเตียงสำหรับการส่งต่อ และการประสานการส่งต่อในระบบระหว่างภาครัฐในจังหวัด ในเขตและส่วนกลาง เช่น โรงพยาบาลสนามในเขต โรงพยาบาลบุษราคัม และให้เพิ่มขีดความร่วมมือของโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดในการรับส่งต่อผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดงให้มากขึ้น รวมทั้งการพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้น และการนำส่งป่วยจากบ้านมาโรงพยาบาลให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด



อาจต้อง'ล็อกดาวน์'อีกรอบ หมออดุลย์ ห่วง ผู้ป่วยระบบเฝ้าระวังมากขึ้น ซ้ำเตียงไม่พอ



          สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ยังพบยอดผู้ติดเชื้อไม่ลดลง ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune อธิบายถึงสถานการณ์ที่น่าห่วง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องไม่มีเตียงให้คนไข้หนักยังคงอยู่ และไม่ลดลง จากปัญหาผู้ป่วยรายใหม่ยังไม่ลดลง

          โดยเฉพาะขณะนี้เริ่มพบผู้ป่วยที่มาตรวจตามปกติที่โรงพยาบาลและเจอโดยบังเอิญหรือเจอเมื่อมีอาการ หากคนไข้กลุ่มนี้มีจำนวนมาก แสดงว่า ยังมีผู้ป่วยอยู่ในชุมชนจำนวนมาก และ ก่อนที่จะมาตรวจพบเชื้อที่โรงพยาบาล พวกเขาได้แพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นอีกจำนวนมาก เชื่อได้ว่า ผู้ป่วยรายใหม่ จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในอีก 4-7 วันถัดไป ซึ่งจะไปซ้ำเติมสถานการณ์ ไม่มีเตียงรับผู้ป่วยหนัก  และหากไม่แก้ไข อาจจะต้อง lockdown กันอีกรอบ



ยะลาพบติดเชื้อเพิ่มขึ้น 71 คน ยังพบเชื่อมโยงโรงเรียนสอนศาสนา เสียชีวิต 1



          สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลาวันนี้ (23 มิถุนายน 2564 ) พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 71 คน จากการสอบสวนโรค พบว่า  



-เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 52 คน



-ม. 3 บ้านเปาะยานิ (มัรกัส) 7 คน



-คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ คัดกรองก่อนผ่าตัด และกิจกรรมทางศาสนา อย่างละ 4 คน



          แยกจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากพื้นที่ ดังนี้



-อ.เมือง 48 คน



-อ.เบตง 10 คน



-อ.บันนังสตา 8 คน



-อ.กรงปินัง 3 คน



-อ.กาบัง 1 คน



-อ.ยะหา 1 คน



          ทำให้ยอดติดเชื้อสะสม 992 คน 



          นอกจากนั้น ยังพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย (จากพื้นที่ อ.เมือง)  เป็นชายวัย 62ปี อยู่ที่ตลาดเมืองใหม่ ต.สะเตง อ.เมืองยะลา เป็นผู้สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. เพราะมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ หายใจเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ขาบวมเล็กน้อย แรกรับรู้สึกตัว เจ็บหน้าอก ใส่ท่อช่วยหายใจ เรียกไม่รู้สึกตัว ช่วยกู้ชีพ ในเวลา 13.35 น. และเสียชีวิตในเวลา 14.05 น.



          ทำให้ ยอดเสียชีวิตสะสม 7 ราย รักษาหายแล้ว 447 คน ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอีก 538 คน



สิงคโปร์ลดวันกักตัวคนเดินทางจากกลุ่มประเทศเสี่ยงสูง เหลือ 14 วัน จากเดิม 21 วัน



          กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุในแถลงการณ์ว่า สิงคโปร์ได้ลดระยะเวลาการกักกันตนเองในบ้านสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูงจากเดิม 21 วัน เหลือ 14 วัน มีผลตั้งแต่วันนี้ พร้อมแนะนำผู้โดยสารให้ตรวจหาเชื้อด้วยตนเองการตรวจแบบรวดเร็วหรือ ART  อย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกๆ 3 วัน, 7 วัน หรือ 11 วัน และการตรวจโดยละเอียดหรือ PCR ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสิงคโปร์แนะนำให้ผู้โดยสารตรวจสองครั้งคือ ในวันแรกที่ผู้โดยสารเดินทางมาถึงสิงคโปร์และวันสุดท้ายของการกักตัวคือวันที่ 14 หากพบว่าติดเชื้อ จะได้นำตัวเข้ารับการรักษา



         กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุว่าการปรับปรุงกฏระเบียบใหม่ มาจากการรวบรวบข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในท้องถิ่นและทั่วโลกตั้งแต่เดือนที่แล้ว สิงคโปร์เห็นว่า ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อไวรัสคือ 14 วัน



          ทั้งนี้ สิงคโปร์ถือว่าทุกประเทศและภูมิภาค ล้วนเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ยกเว้น ออสเตรเลีย,บรูไน,จีน,เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ,มาเก๊าและ นิวซีแลนด์ ปัจจุบัน สิงคโปร์มีผู้ป่วยสะสม 62,470 คน เสียชีวิต 22 ราย



ญี่ปุ่นเปิดข้อกำหนด กองเชียร์โอลิมปิก สวมหน้ากากอนามัย –ห้ามส่งเสียงเชียร์



          ฝ่ายจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่น เปิดหลักเกณฑ์การเข้าชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สำหรับกองเชียร์หรือผู้เข้าชมการแข่งขันในสนามกีฬา เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  โดยแนะนำให้ผู้เข้าชมการแข่งขันในสนามกีฬาสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในสนามกีฬา ห้ามส่งเสียงเชียร์นักกีฬา ห้ามสวมกอดกัน หรือการแตะมือทักทายแบบไฮไฟว์ เพื่อแสดงความดีใจ



         ในข้อกำหนดนี้ ยังห้ามผู้ชมนั่งประทานอาหารและดื่มน้ำเป็นกลุ่มๆ ตามช่องทางเดินต่างๆ ของสนามกีฬา หรือรวมกลุ่มกันรับประทานอาหารภายนอกสนาม  ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสนามกีฬา



         ฝ่ายจัดการแข่งขันแนะนำผู้ชมในสนามแข่งขัน ขึ้นรถประจำทางจากสนามกีฬาเพื่อกลับบ้านทันที โดยไม่แวะยังสถานที่อื่นๆก่อน รวมถึงแนะนำ ให้ผู้ชมจัดเวลาการเข้าชมในสนามแข่งขันแบบเหลื่อมเวลากัน แทนการเดินทางไปยังสนามพร้อมกันคราวละมากๆ เพื่อลดความแออัดของผู้ชมในสนามแข่งขัน



         สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยประจำสนามแข่งขันต่างๆจะไม่อนุญาตให้เข้าชมในสนามกีฬาหรือสั่งให้ออกจากสนามกีฬาทันที



          การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคมนี้

ข่าวทั้งหมด

X