ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30 น.วันพุธที่ 23 มิถุนายน 2564

23 มิถุนายน 2564, 14:17น.


ไม่มีนโยบายล็อกดาวน์ กทม. ศบค.ใช้วิธี  Bubble & Seal



          ข้อเสนอของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร  7 วัน เพื่อควบคุมตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอ และขอบคุณทุกข้อเสนอ มาตรการต่างๆมีการไตร่ตรองมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เป็นการผสมผสานกับเรื่องเศรษฐกิจด้วย การดำเนินการคือ เมื่อเจอจุดไหน ปิดจุดนั้น ทั้งในแคมป์แรงงานและโรงงาน ทั้งนี้ การปิดพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร จะทำให้คนกระจายไปต่างจังหวัดเป็นการเพิ่มภาระให้กับต่างจังหวัดอีก ขอให้กรุงเทพมหานคร พิจารณามาตรการ Bubble & Seal ที่จ.สมุทรสาคร นำมาใช้แก้ปัญหาเมื่อพบแรงงานในโรงงานติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นรูปแบบที่เปิดทำงานในโรงงานได้ แต่การเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานต้องมีมาตรการเข้มงวด แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีความต่างจากจ.สมุทรสาคร ทั้งจำนวนคนที่มากกว่า แรงงานต่างด้าวเยอะมากกว่า รวมทั้งความซับซ้อนของพื้นที่ และให้รองปลัดกรุงเทพมหานคร แต่ละคนไปคุมโซนในแต่ละพื้นที่  



แฟ้มภาพ กทม.



บุคลากรทางการแพทย์ รพ.เชียงราย ติดเชื้อ 39 คน



          นพ.ไชยเวศ ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์  ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการหลังจากที่พบบุคลากรของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 39 คน ว่าโรงพยาบาลได้แยกเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาและทีมสอบสวนโรคได้ดำเนินการสอบสวนหาผู้เกี่ยวข้องและแจ้งให้เข้าสู่กระบวนการโดยเร็วที่สุด



บุคลากรของโรงพยาบาลที่ติดเชื้อ 39 คน มีอาการเล็กน้อย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ



          คณะกรรมการ EOC ของโรงพยาบาล กำหนดแนวทางการควบคุมและป้องกัน ดังนี้



1. กำหนดให้พื้นที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม เป็นพื้นที่ควบคุม งดรับผู้ป่วย



2. กำหนดให้ญาติสามารถเฝ้าไข้ได้ 1 คน เน้นย้ำให้เป็นคนเดิม และงดเยี่ยมทุกกรณี



3. บุคลากรทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด



4. มีการเฝ้าระวัง หากบุคลากรมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ให้หยุดงานทันที



5. โรงพยาบาลจำเป็นต้องปรับการให้บริการลง 50% เพื่อลดความเสี่ยง



แอสตร้าเซนเนก้า ยืนยัน ประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ เดลตา-แคปปา



          ประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันโควิด-19  ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ ล่าสุด บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่บริษัทผลิตนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (Delta) และสายพันธุ์แคปปา (Kappa) ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดียได้   



          ผลการศึกษาดังกล่าวดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด  อ้างอิงผลการวิเคราะห์ของสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ระบุว่า วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า สามารถป้องกันอาการป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้มากกว่าร้อยละ90  หลังจากได้ตรวจสอบความสามารถของโมโนโคลนอลแอนติบอดี ในตัวอย่างเลือดของผู้ที่หายจากอาการป่วยแล้ว รวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและแคปปา



          ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า สายพันธุ์เดลตากำลังจะกลายเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลก



นายกฯ เยอรมนี ฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 2 ต่อจากแอสตร้าฯ



          โฆษกรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีอังเกลา เมอร์เคิล ผู้นำวัย 66 ปีของเยอรมนีได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 2 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากที่เธอฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรกเมื่อเดือนเมษายน



          หลายประเทศมีการทดลองการผสมวัคซีนเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์และปัญหาขาดแคลนวัคซีน โดยเมื่อเดือนมีนาคม เยอรมนีและอีกหลายประเทศในยุโรป ได้ระงับการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากมีรายงานผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันจำนวนมาก หลังจากนั้นก็กลับมาใช้งานเนื่องจากหน่วยงานควบคุมยาระบุว่า วัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง และเยอรมนีได้ขยายการให้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในกลุ่มผู้ใหญ่ทุกคน ซึ่งแม้ว่าโครงการวัคซีนของเยอรมนีจะเริ่มต้นอย่างล่าช้า แต่ขณะนี้ประชากรมากกว่าครึ่งของประเทศได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว



อัยการบราซิล สอบสวนการทำข้อตกลงจัดซื้อวัคซีนโควิดของภารัต



          อัยการสหพันธรัฐบราซิล เปิดการสอบสวนการที่รัฐบาลกลางทำสัญญามูลค่า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10,166 ล้านบาท) เพื่อจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 20 ล้านโดสที่ผลิตโดยบริษัทภารัตไบโอเทคของอินเดีย มีชื่อทางการค้าคือโคแวกซิน เนื่องจากเป็นราคาต่อหน่วยที่ค่อนข้างสูง คือประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อโดส ทั้งมีการทำข้อตกลงอย่างรวดเร็วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์  หลังจากนั้นรัฐบาลมีการทำข้อตกลงที่คล้ายกันกับบริษัทไฟเซอร์ และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่วัคซีนของภารัตมีราคาแพงกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ทั้งที่วัคซีนของภารัตยังไม่ได้รับเอกสารรับรองที่สำคัญ



          ขณะเดียวกัน วุฒิสภาบราซิล ยังมีการไต่สวนเรื่องการทำสัญญาซื้อวัคซีนจากภารัต และการที่ภารัตไม่ได้ส่งวัคซีนให้ตามกำหนด โดยนัดให้นางเพรสซิเลีย เมดิกาเมนทอส ซึ่งเป็นคนกลางของภารัตในกรุงบราซิเลียเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการในวันนี้ (23 มิ.ย.)



          นอกจากนี้ ผู้สอบสวนของวุฒิสภา ยังนำเสนอรายงานที่อ้างคำให้การจากเจ้าหน้าที่รัฐ ว่ามี “แรงกดดันที่ผิดปกติ” จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขในการบรรลุข้อตกลงสำหรับวัคซีนของภารัต นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม อันวีซา ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพของบราซิลยังปฏิเสธคำขอจากรัฐบาลในการนำเข้าวัคซีนของภารัต ไบโอเทค เนื่องจากความกังวลเรื่องมาตรฐานการผลิต และขาดข้อมูลความปลอดภัยและเอกสารอื่น ๆ



 



 

ข่าวทั้งหมด

X