กรมอนามัย ย้ำ Nursing Home ดูแลผู้สูงอายุ ทุกแห่ง หากพบผู้ติดเชื้อ ต้องแยกทันที
1 ใน 3 คลัสเตอร์ใหม่ ที่พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ การติดเชื้อที่สถานดูแลผู้สูงอายุ ที่เขตบางเขน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึง การติดเชื้อในเนอสซิ่งโฮม (Nursing Home) ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งย่านบางเขนที่พบว่ามีผู้สูงอายุติดเตียงและคนดูแลอาศัยอยู่รวมกัน 9 คน พบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 6 คน เป็นผู้สูงอายุ 5 คน และผู้ดูแล 1 คน แต่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ในบ้านหลังเดียวกันทั้งหมด รวมถึงผู้ดูแลที่ติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังคงต้องดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ติดเชื้ออยู่เช่นเดิม ทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่คนที่เหลือสูงมาก
ดังนั้น เมื่อพบว่าเนอสซิ่งโฮมดูแลผู้สูงอายุแห่งอื่นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรให้ผู้สูงอายุติดเชื้อหรืออยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง กักตนเองและเข้าสู่ระบบการรักษา ขอความร่วมมือเนอสซิ่งโฮมดูแลผู้สูงอายุทุกแห่งประเมินตนเองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขโดยใช้แพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus ซึ่งเป็นข้อแนะนำทางด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาด ประกอบด้วยมาตรการและแนวทางปฏิบัติ
ผู้ป่วยไม่ลดลง! นายกฯ สั่งเพิ่มเตียง เร่งสธ. ฉีดวัคซีนเพิ่มเป็นวันละ 5 แสนโดส
หลายฝ่ายกังวลปัญหาเตียงรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่เพียงพอ บางพื้นที่ไม่มีรถพยาบาลไปรับตัวผู้ป่วย เนื่องจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีท่าทีจะลดลง นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้แต่ละจังหวัดเพิ่มจำนวนเตียง ปรับให้รักษาผู้ป่วยตามอาการ หากหน่วยงานใดจำเป็นต้องเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอกซเรย์ ให้เร่งแจ้งความประสงค์เข้ามา
ส่วนการจัดหาวัคซีนให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความประสงค์ขอรับวัคซีน ขอให้แจ้งความประสงค์ไปที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีองค์กรขนาดใหญ่ มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัด หรือองค์กรระหว่างประเทศ ที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้ส่งหนังสือแจ้งไปที่อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
พล.อ.ประยุทธ์ สอบถามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน รายงานว่า ขณะนี้สามารถฉีดได้สูงสุดวันละ 400,000 โดส นายกฯจึงขอให้มีการเพิ่มจำนวนการฉีดให้ได้วันละ 500,000 โดส
กรมวิทย์ ฯ พบคนติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย 168 คน ระบาดหลายจังหวัด
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงเรื่องการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ว่าจะมีผลกระทบต่อการได้รับวัคซีนหรือไม่
-การเฝ้าระวังสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ในไทย กรมฯได้ติดตามเป็นรายสัปดาห์ โดยเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ทั่วประเทศ ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 เม.ย.-20 มิ.ย.64 ตรวจสายพันธุ์ 6,000 คน พบเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 5,641 ราย รองลงมาคือ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) พบ 661 คน
-สัปดาห์ที่ผ่านมาพบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพิ่ม 168 คน ทำให้มีสัดส่วนผู้ป่วยสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 10.5 พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย)
*กรุงเทพมหานคร 87 คน
*แคมป์คนงาน จ.นนทบุรี 63 คน
*จ.สกลนคร 4 คน
*จ.เชียงใหม่ 2 คน เป็นผู้รับเหมามาจากกรุงเทพมหานคร รวมทั้ง จ.ปทุมธานี อุดรธานี เลย หนองคาย นครราชสีมา จังหวัดละ 2 คน
*จ.นครปฐม และ ชัยภูมิ จังหวัดละ 1 คน
-ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบ 38 คน พบเพิ่มขึ้น 7 คน
*จ.ปัตตานี 4 คน
*จ.ภูเก็ต 2 คน เป็นนักเรียนที่กลับจากโรงเรียนสอนศาสนาในศูนย์มัรกัสยะลา เป็นเชื้อจากนอกพื้นที่และได้รับการดูแลแล้ว หากกักตัวครบกำหนด ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ใน จ.ภูเก็ต ก็ถือว่าจบ
*จ.ยะลา 1 คน
CR:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ศูนย์มัรกัสยะลา ติดเชื้อกว่า 500 คน คละสายพันธุ์
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขอทำความเข้าใจว่า นักเรียนที่ศูนย์มัรกัสยะลา พบว่าติดเชื้อกว่า 500 คน ไม่ได้เป็นสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ทั้งหมด ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่มีข่าวว่านักเรียนเดินทางกลับบ้านไปมากกว่า 10 จังหวัด ยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดที่เด็กกลับบ้าน ส่งตัวอย่างมาให้เราตรวจหาสายพันธุ์ สรุปแล้วสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ยังแพร่ระบาดไม่มาก ความจริงเราพบสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ก่อนสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ด้วยซ้ำ แต่สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) เพิ่มจำนวนไม่เร็ว ไม่น่าวิตก ควบคุมได้เร็ว ตอนนี้พบร้อยละ 1 ขณะที่สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) พบเพิ่มร้อยละ 10 ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน
กระบี่ ปิดพื้นที่ศูนย์เรียนรู้อิสลาม-บ่อน้ำพุร้อนเค็ม หลังพบผู้ป่วยไปเที่ยว
การควบคุมโรคในพื้นที่ จ. กระบี่ หลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์มัรกัสยะลา 19 คน สำนักงานสาธารณสุข รายงานว่า คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กระบี่ ออกประกาศฉบับที่ 20/2564
-ห้ามไม่ให้มีการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่ศูนย์การเรียนวิธีอิสลามบินูริรเราะห์มาน ในพื้นที่หมู่ 3 ต.คลองหิน อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. ไปจนถึงวันที่ 2 ก.ค.64 พร้อมทั้งให้ดำเนินการตรวจคัดกรองผู้ที่อาศัยอยู่ในศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวจำนวน 100 คน โดย จนท.เริ่มดำเนินการตรวจตั้งแต่วันที่ 21-25 มิ.ย. เพื่อค้นหาผู้สัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อว่ามีใครติดเชื้อเพิ่มบ้าง หลังก่อนนี้มีผู้ป่วยจากศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว 1 คน ติดเชื้อมาจากคลัสเตอร์มัรกัสยะลา
-สั่งปิดบ่อน้ำพุร้อนเค็ม ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม หลังจากมีผู้ป่วยจากคลัสเตอร์มัรกัสยะลา เดินทางเข้าไปเที่ยว โดยให้คนที่เข้าไปเที่ยวบ่อน้ำพุร้อนเค็มตั้งแต่วันที่ 14-16 มิ.ย. 64 รีบไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
-แจ้งเตือนให้คนที่ไปซื้อของในตลาดนัดคลองท่อมเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.64 สังเกตอาการตัวเอง 14 วัน เนื่องจากมีผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว
ปัตตานี พบติดเชื้อกว่า 100 คน จากรง.ผลิตปลากระป๋อง-รง.แปรรูปอาหารทะเล
จ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อพุ่งอีก 117 คน ส่วนใหญ่มาจากโรงงานผลิตปลากระป๋องรอยัลฟู้ดและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล แพอรุณ มัรกัสยะลา แล้วแพร่เชื้อขยายวงกว้างในจังหวัดเข้าในชุมชนต่างๆและคนในครอบครัว ขณะเดียวกัน เร่งตรวจสอบผู้ติดเชื้อว่ามีเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้เพิ่มเติมด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยมักจะปกปิดไทม์ไลน์ จึงส่งผลให้สถานการณ์โควิด-19 แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว