นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เรียกผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งเข้าหารือ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. เป็นการเร่งด่วน เพื่อสั่งการให้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2564 และให้เสนอแผนกลับมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์
เบื้องต้นทุกธนาคารเห็นตรงกันว่าจะมีการพักชำระหนี้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบไปจนสิ้นปี 2564 จากปัจจุบันที่แต่ละธนาคารช่วงเวลาพักหนี้ไม่เท่ากัน และมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ก็จะทำเป็นมาตรการแพ็คเกจเดียว
นอกจากนี้ ยังมีธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งได้เสนอแผนช่วยเหลือลูกหนี้ เป็นกรณีพิเศษ จากเดิม ที่พักเงินต้น และจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ หรือบางส่วน เป็นการพักชำระเงินต้น และลดดอกเบี้ยเหลือ 0% หรือ คิดแค่ 0.01% ต่อปีเท่านั้น คาดว่าจะมีผลเร็วๆ นี้ ไปจนถึงสิ้นปี โดยจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด
สำหรับการลดเพดานดอกเบี้ย ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง โดยเรื่องนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่กระทรวงการคลัง ดำเนินการ ผ่าน พิโกไฟแนนซ์ และ นาโนไฟแนนซ์ จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำพอสมควร ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว บางมาตรการก็ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยซอฟท์โลนด้วยซ้ำ ส่วนของธนาคารพาณิชย์ คลังจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร็ว ๆนี้ เพื่อพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่ และทำได้มากน้อยแค่ไหน ในกลุ่มลูกค้าใดบ้าง
สำหรับการลงทะเบียนยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ยอดไม่ลงทะเบียนไม่สูงมาก เป็นเรื่องปกติ ซึ่งผู้มีรายได้มาก หรือ คนรวย อาจจะต้องการช่วยรัฐบาล ซึ่งถ้ามีคนใช้มาตรการน้อย ก็ใช้งบน้อยลง ส่วนข้อเสนอภาคเอกชน ที่ต้องการให้เพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง คงต้องพิจารณาร่วมกัน เพราะวงเงินเยียวยามีจำกัดต้องดูหลาย ๆ ด้าน เพราะมีผู้เสนอมาตรการมาหลายกลุ่ม เยียวยาผู้ประกอบการต่างๆ ก็ต้องดูความเหมาะสม