ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ เวลา 19.30 น.ประจำวันอังคารที่ 22 มิถุนายน 2564
ปลัดสธ.เผย นายกฯ สั่งเตรียมเตียงพอรับผู้ป่วยวิกฤต
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดูแลจำนวนเตียงรักษาพยาบาลให้มีเพียงพอ เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยที่รอเตียงในระดับสีแดง และสีเหลืองที่มีมากพอสมควร พร้อมเน้นย้ำให้จัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และทันต่อสถานการณ์
กทม.ยังน่าเป็นห่วงยอดติดเชื้อพุ่ง พบคลัสเตอร์ใหม่ 3 แห่ง
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค. เปิดเผยว่าที่ประชุมได้วิเคราะห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 4,059 คน ว่าอยู่ในกรุงเทพมหานคร 1,154 คนและปริมณฑลอีก 1,488 คน เกินครึ่งของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่แล้ว และจังหวัดอื่นๆ อีก 1,321 คน แสดงให้เห็นว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังพบการติดเชื้อมากที่สุดมีการติดเชื้อในชุมชนที่เรียกว่าไข่แดง ทำให้ยังต้องเดินหน้าตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกแยกออกมาจากคนที่ไม่ติดเชื้อ
คณะกรรมการอีโอซี มีความหนักใจ มีการวางแผนรับมือจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยมีการประสานการทำงานร่วมกันของโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน และ โรงพยาบาลบุษราคัม ประกอบกับกราฟของคนที่เข้าไปใช้ระบบบริการของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันด้วย
ศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
-คลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 94 แห่ง
-พบคลัสเตอร์ใหม่ 3 แห่ง
1.เขตบางเขน พบผู้ติดเชื้อในสถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อ 12 คน
2.เขตธนบุรี พบผู้ติดเชื้อในร้านผลิตและขายส่งขนมกุยช่าย ซ.เทิดไท 21 ผู้ติดเชื้อ 23 คน
3.เขตบางกอกใหญ่ พบผู้ติดเชื้อในแคมป์ที่พักคนงาน ถ.เพชรเกษมสายเก่า ผู้ติดเชื้อ 47 คน
หมอเหรียญทองเสนอนายกฯ รวม รพ.สนามระดับ 1แก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ
สถานการณ์แพร่ระบาดหนักในกรุงเทพมหานครทำให้จำนวนเตียงไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย พลตรี เหรียญทอง แน่นหนาโพสต์ข้อความเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค.ให้รวมโรงพยาบาลสนาม ระดับ 1 ไว้ด้วยกันดีกว่ากระจายเพื่อแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่จำกัดและขาดแคลน เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ 'รวม' รพ.สนาม ระดับ 1 ไว้คงเหลือเพียงไม่กี่แห่ง แต่ละแห่งให้เพิ่มจำนวนเตียงรับผู้ป่วยให้มากนับพันเตียงหรือหลายๆพันเตียง แล้วจัดระบบ 'รวม' บุคลากรทางการแพทย์ สำหรับระบบฮอลปิเทล [Hospitel] เป็นระบบ รพ.สนาม ระดับ 1 ที่เหมาะสมในสถานการณ์ระบาดที่ต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้มีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยอย่างฉับพลันในระยะสั้น แต่จะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาดเรื้อรังที่ต้องเผชิญต่อเนื่องลากยาวและมีผู้ป่วยสะสมจำนวนมากๆ
สงขลาติดเชื้อ 293 คน
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จังหวัดสงขลาวันนี้พบผู้ติดเชื้อ 293 คน แบ่งเป็นนอกเรือนจำ 292 คน ในเรือนจำ 1 คน พบว่า เป็นผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 28 คน แบ่งเป็น
-ติดเชื้อในชุมชน และผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ 12 คน
-สัมผัสกับผู้ติดเชื้อในโรงงานและห้างร้าน 10 คน และ
-ผู้ป่วยกลุ่มอื่น 6 คน
ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,758 คน ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,433 คน รักษาหายแล้ว 2,310 คน
นนทบุรีพบติดเชื้อ 64 คน
สถานการณ์ผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 จ.นนทบุรี วันนี้ 22 มิถุนายน 2564 พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 64 คน สาเหตุติดเชื้อที่สำคัญ : สถานที่ทำงาน และครอบครัว เพศหญิง 39 คน เพศชาย 25 คน ต่างชาติ 5 คน (พม่า 2 คน ลาว 1 คน และกัมพูชา 2คน)
ภูมิลำเนา แยกเป็น อำเภอเมือง 13คน อำเภอปากเกร็ด 13 คน อำเภอบางใหญ่ 12 คน อำเภอไทรน้อย 12 คน อำเภอบางบัวทอง 8 คน อำเภอบางกรวย 6 คน
มีอาการ 36 คน คิดเป็น 56 %
ไม่มีอาการ 28 คน คิดเป็น 44 %
สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 64 คน เชิงรุก 0 คน เชิงรับ 64 คน
- ในครอบครัว 10 คน (ผู้สูงอายุ/ในปกครอง 5คน) ในสถานที่กักตัว 2 คน
- เพื่อน/เพื่อนร่วมงาน 54 คน
- รับจ้าง 21 คน(บ.ไทโกริโกะ,บริษัท สยามควอลิตี้ แห่งละ 2 คน จินตนาอินเตอร์เทรด, เถ้าแก่น้อย(ปทุมธานี),บ.ซี-โพส แห่งละ 1คน)
- รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ 7 คน(บุคลากรสาธารณสุข 3 คนไปรษณีย์บางซื่อ 1 คน อาจารย์มหาวิทยาลัย 1คน, อบต. 1 คน)
- ค้าขาย 5 คน
- อื่นๆ 3 คน(Grab , ขับแท็กซี่, รถตู้โรงเรียน)
ไทยยังเผชิญสายพันธุ์อัลฟ่า แพร่ระบาดร้อยละ 88
จำนวนผู้ติดเชื้อที่พบจำแนกตามสายพันธุ์ในรอบวันที่ 14-20 มิถุนายน 2564 พบว่า
– สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ยังเป็นสายพันธุ์ที่มากสุดในไทย จากเดิมมี 4,528 คน ล่าสุดพบเพิ่มอีก 1,113 คน มากที่สุดอยู่ใน กทม. 387 คน ทำให้ยอดสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเมษายน 2564 สะสมแล้ว 5,641 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 88.93
– สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) จากเดิมมี 496 คน พบเพิ่มอีก 170 คน อยู่ในเขตสุขภาพที่ 4 (สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี) จากเดิม 40 คน เพิ่มอีก 65 คน รวม 105 คน
และมากสุดในเขต 13 (กทม.) จากเดิม 404 คน เพิ่มอีก 89 คน รวมเป็น 493 คน และเขตอื่น ๆ ทำให้ยอดสะสมสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายนถึงปัจจุบันพบสายพันธุ์เดลต้าแล้วทั้งสิ้น 664 คน คิดเป็น ร้อยละ 10.47 ซึ่งจะเห็นว่าสายพันธุ์นี้เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
– สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกา) จากมี 31 คน พบเพิ่มอีก 7 คน ในพื้นที่ภาคใต้ แบ่งเป็น 2 คน ที่ภูเก็ต เป็นนักเรียนที่กลับมาจากโรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา และที่ จ.ปัตตานี 4 คน จ.ยะลา 1 คน รวมยอดสะสมแล้ว 38 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.60
'เดลต้า' คุกคามสหรัฐฯ โดยเฉพาะพื้นที่ ที่ฉีดวัคซีนน้อย
สหรัฐฯ ยังคงเผชิญภัยคุกคามจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา (Delta) ที่ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุด แม้ทำเนียบขาวเผยว่าสหรัฐฯ ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19มากกว่า 300 ล้านโดส ใน 150 วันแรกที่นายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่าราวร้อยละ 45.1 ของประชากรสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสแล้ว ขณะที่ร้อยละ 53.3 ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส เมื่อนับถึงวันอาทิตย์ (20 มิ.ย.) ทว่าบางรัฐ อาทิ แอละแบมา อาร์คันซอ ลุยเซียนา มิสซิสซิปปี เทนเนสซี และไวโอมิง มีผู้รับวัคซีนครบโดสน้อยกว่าร้อยละ 35 ของผู้อาศัยทั้งหมด
สกอตต์ กอตเลียบ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) เผยว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลต้า สามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าเดิมและก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้น อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ระดับการติดเชื้อจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีนในแต่ละพื้นที่ พร้อมถอดแบบจำลองการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา บ่งชี้ช่วงฤดูใบไม้ร่วงอาจพบการติดเชื้อแตะระดับสูงสุดราวร้อยละ 20 ของระดับเมื่อเดือนมกราคม แต่การแพร่กระจายของเชื้อจะไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากเฮลิกซ์ (Helix) ได้วิเคราะห์ตัวอย่างโรคโควิด-19 ที่รวบรวมตั้งแต่เดือนเมษายน จำนวนเกือบ 20,000 รายการ และพบสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเทศมณฑลที่ผู้อาศัยได้รับวัคซีนน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ
จางจั้วเฟิง ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและรองคณบดีฝ่ายวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) บอกว่างานวิจัยเกี่ยวกับระยะเวลาออกฤทธิ์ป้องกันของวัคซีนโรคโควิด-19 และเวลาที่จำเป็นต้องใช้วัคซีนกระตุ้น ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ เรียกร้องประชาชนเข้ารับวัคซีนโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันผลกระทบจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย และการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด
รัสเซีย เตือนใครไม่รับวัคซีน เสี่ยงตกงาน
รัสเซียระบุว่า ผู้ที่ยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หรือไม่มีภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าว จะไม่สามารถทำงานในสถานที่ทำงานทุกแห่งในรัสเซียได้ และบุคคลเหล่านั้นอาจถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากพวกเขาจะเป็นภัยต่อผู้คนรอบข้าง
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เตือนเมื่อวันจันทร์ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในบางภูมิภาคของรัสเซียกำลังย่ำแย่ลง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัสเซียเริ่มส่งเสริมแนวคิดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นประจำเพื่อพยายามลดยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านโรคโควิด-19 ของรัสเซียรายงานว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 16,715 คน ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อในกรุงมอสโกสูงถึง 6,555 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 546 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 5.35 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 130,000 คน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัสเซียระบุว่า ยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่พบครั้งแรกในอินเดียและแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วขึ้น
สิงคโปร์ปรับแผนฟื้นเศรษฐกิจ ยังพบคลัสเตอร์ติดเชื้อ
ทางการสิงคโปร์ตรวจพบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มอีก 2 กลุ่มในย่านเรดฮิลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ของประเทศ และเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลได้ขยายมาตรการตรวจหาเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิ.ย.ล่าสุด สิงคโปร์โดยกำหนดให้ผู้ที่อยู่อาศัยในย่านเรดฮิลล์ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด หลังพบเชื้อไวรัสในตัวอย่างน้ำเสียที่เก็บได้จากพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าเชื้อไวรัสจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและไม่สามารถตรวจพบได้ โดยเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) ได้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ 13 คน กลายเป็นส่วนหนึ่งของคลัสเตอร์ใหม่ที่เกิดขึ้น ขณะที่ผู้ติดเชื้ออีก 3 คน ยังไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของการติดเชื้อได้
คลัสเตอร์กลุ่มแรกที่ถูกตรวจพบในตลาดและศูนย์อาหารในย่านเรดฮิลล์ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นั้น ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งติดเชื้อขนาดใหญ่สุดในสิงคโปร์ โดยมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากถึง 78 คน โดยครึ่งหนึ่งของผู้ที่ติดเชื้อนี้ เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีสาธารณสุขของสิงคโปร์เปิดเผยข้อความบนเฟซบุ๊กว่า "เรากำลังปรับแผนการเปิดเศรษฐกิจหลังจากที่พบการแพร่ระบาดครั้งล่าสุด สิงคโปร์กำลังดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เรามีเวลาเพียงพอในการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19"
สิงคโปร์พยายามหายุทธวิธีในการควบคุมคลัสเตอร์ด้วยการตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุก ขณะเดียวกันทางการสิงคโปร์ยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด นอกจากนี้ รัฐบาลยังกังวลว่าอัตราการฉีดวัคซีนยังไม่สูงพอที่จะรับประกันได้ว่าสิงคโปร์จะสามารถเปิดประเทศได้เร็วขึ้น แม้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโดสแรกให้กับประชาชนกว่าครึ่งประเทศแล้วก็ตาม
ยอดติดเชื้อโควิด-19ในอินเดียต่ำกว่า 5หมื่นเป็นครั้งแรกในรอบ 91 วัน
อินเดียพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 42,640 รายในรอบ 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 29,977,861 ราย ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอินเดียอยู่ต่ำกว่าระดับ 50,000 คน เป็นครั้งแรกในรอบ 91 วัน นอกจากนี้ ยอดผู้ที่รักษาหายในแต่ละวันยังคงมีจำนวนมากกว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่ติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ขณะเดียวกัน อินเดียพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1,167 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศแตะที่ 389,302 ราย
ข้อมูลจากกระทรวงระบุว่า ผู้ที่ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมีจำนวน 662,521คน ลดลง 40,366 คน ในรอบ 24 ชั่วโมง
ส่วนผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายดีและออกจากโรงพยาบาลแล้วมีจำนวน 28,926,038 คน โดยมีผู้ที่ออกจากโรงพยาบาล 81,839 คนในรอบ 24 ชั่วโมง กรุงนิวเดลีซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในอินเดียนับตั้งแต่มีการระบาด พบยอดผู้ป่วยใหม่ 89 คนและเสียชีวิต 11 รายในวันจันทร์
ภาคเอกชนพบนายกฯพรุ่งนี้ เสนอเพิ่มวงเงิน คนละครึ่ง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) ทางภาคเอกชนจะเข้าประชุมร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในประเด็นเรื่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐทั้งมาตรการ “คนละครึ่ง” และ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร เนื่องจากประชาชนมองว่ามีวงเงินที่น้อย ประกอบกับยังไม่มีความมั่นใจในเรื่องวัคซีน เพื่อขอให้ภาครัฐทบทวนการเพิ่มวงเงิน พร้อมเตรียมเสนอให้นำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาน่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าและเร็วกว่า โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจลงทะเบียน เนื่องจากมีความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน ในขณะเดียวกันมองว่าควรมีการแก้ไขให้มีการเข้าถึงสินเชื่อด้วยดอกเบี้ยต่ำ และควรมีมาตรการผ่อนคลายสินเชื่อให้มากขึ้นด้วย
หุ้นไทยหลุดระดับ 1,600 จุด กังวลเคลื่อนย้ายเงินทุน
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,599.23 จุด ลดลง 1.90 จุด มูลค่าการซื้อขาย 81,592.73 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยในช่วงบ่ายนี้อ่อนตัวลงจากความกังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน จากแรงขายในตลาดเอเชีย นักลงทุนจึงเลือกที่จะลดน้ำหนักการลงทุน แล้วโยกมาลงทุนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มห้างสรรพสินค้า, ท่องเที่ยว สายการบิน และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งยังสามารถทยอยสะสมหุ้นได้หลังจากที่ได้มีการเล่นไปในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามการเปิดเมืองอย่างใกล้ชิดจะยังเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศยังมีอยู่มาก
ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดพุ่งขึ้นในวันนี้ โดยทะยานขึ้นกว่า 3% มากที่สุดในรอบ 1 ปีตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดทะยานขึ้นเมื่อคืนนี้หลังจากนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 28,884.13 จุด พุ่งขึ้น 873.20 จุด
ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดปรับตัวลงในวันนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากการเทขายทำกำไรของนักลงทุน หลังจากที่ตลาดเปิดบวกเมื่อเช้านี้ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดัชนีฮั่งเส็งปิดที่ 28,309.76 จุด ลดลง 179.24 จุด