ช่วงบ่ายวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะเข้าพบที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เรียกเข้าพบเพื่อให้มารายงานเรื่องวัคซีน การจัดเตรียมความพร้อมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 1 ก.ค. เพื่อจะได้พูดคุยว่า เมื่อนายกฯ มีนโยบาย 120 วันแล้ว จะต้องนำนโยบายดังกล่าวมาจัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้นายกฯได้รับข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจเมื่อถึงเวลา หากเปิดประเทศแล้วมีคนติดเชื้อก็ต้องดูว่ายามีความพร้อมหรือไม่ เตียงมีความพร้อมหรือไม่ หากจัดเตรียมความพร้อมได้ ก็สามารถที่จะประกอบการตัดสินใจ
ส่วนข้อเสนอของหลายฝ่ายต้องการชะลอการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปก่อนเนื่องจากเกิดคลัสเตอร์หลายจังหวัดในภาคใต้ทั้ง จ.ยะลา และ จ.สงขลา นายอนุทิน กล่าวว่า คนที่บอกควรชะลอก็ต้องมานั่งฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เสนอความเห็นผ่านไปยังศบค. ว่าเหตุผลต่างๆเป็นอย่างไรบ้าง
การจัดสรรวัคซีนที่ในบางพื้นที่อาจจะน้อยเกินไป นายอนุทิน กล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนส่งไปตามสูตรการกระจาย และเป็นข้อตกลงของศบค.และหน่วยงานต่างๆ กับกรมควบคุมโรค ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ และการฉีดวัคซีนทุกคนก็เห็นว่าฉีดได้วันละถึง 3 แสนคน ประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนก็มีและยังมีการจัดส่งอยู่ทุกสัปดาห์ เมื่อมีสายพันธุ์อินเดียก็มีนักวิชาการ อาจารย์แพทย์ที่ดูแลนโยบายวัคซีนก็กำลังศึกษาว่า ควรจะมีการฉีดกระตุ้นหรือไม่ หรือ จะฉีดผสมต่างยี่ห้อได้หรือไม่ เหล่านี้กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งเราก็ต้องมีความพร้อมในการจัดซื้อจัดหามาให้ทันเวลาและเพียงพอต่อประชาชน
ส่วนประเด็นวิจารณ์ราคาวัคซีนระหว่างซิโนแวค ที่ซื้อในราคาแพงกว่าแอสตร้าเซนเนก้า นายอนุทิน กล่าวว่า การซื้อซิโนแวค เป็นการซื้อโดยตรงไม่ผ่านใคร เป็นวัคซีนที่สามารถกันจำนวนการผลิตให้กับประเทศไทยได้ ต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ ที่เซ็นต์สัญญาไปตอนแรกก็บอกคิว3 แต่เมื่อถึงเวลาจริงก็บอกคิว4 หากเป็นเช่นนี้จะรอไหวหรือไม่ในสถานการณ์ระบาดขนาดนี้ อย่างน้อยต้องย้ำกันว่าไม่มีวัคซีนใดในโลกที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ป้องกันการเสียชีวิตกับการมีอาการหนักได้ 100% จึงมีความตั้งใจที่จะฉีดให้คนทุกคนในประเทศไทย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขต้องจัดหาวัคซีนให้มาให้ได้
ส่วนการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาขาย เป็นการใช้นโยบาย ซีเอสอาร์ โนโพรฟิตโนลอส (ไม่ได้กำไรและไม่ขาดทุน) และมาผลิตอยู่ในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายจึงถูกลงและ ไม่ได้ซื้อแพงกว่าประเทศอื่น แม้ว่า ผู้ขายจะเป็นคนกำหนด แต่ทุกอย่างมีการต่อรองตลอด แต่ปัญหาก็คือว่า จะเอาหรือไม่ ในเมื่อตอนนี้เราต้องใช้ ตอนนี้เราซื้อ 15 เหรียญต่อโดส และ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อให้เขาขาย30เหรียญต่อโดส เผลอๆ เราก็ต้องซื้อ ทุกคนมองว่านี้คือเรื่องจำเป็นของโลก เขาก็ไม่ได้เอารัดเอาเปรียบในเชิงพาณิชย์มากนัก
ด้านความจำเป็นฉีดซิโนแวคเข็มที่ 3 นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของวิชาการ ส่วนตัวมีฐานะเป็นผู้สนับสนุนทำตามคำแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัคซีนยี่ห้อใด ใช้เท่าไหร่ ใช้อย่างไร ฉีดผสมได้หรือไม่ ก็มีคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์จะเป็นคนบอก
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงเห็นชอบให้พื้นที่ที่มีการระบาด สามารถปรับระยะเวลาการฉีดเข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้นจากปกติที่นัดห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์ เป็น 8 สัปดาห์ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรวัคซีนกระจายไปยังพื้นที่แล้วรวม 8.5 ล้านโดส ตามแผนที่ ศบค. กำหนด เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
ข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.– 21 มิ.ย. ฉีดวัคซีนแล้วรวม 7,906,696 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 5,678,848 โดส และเข็ม 2 จำนวน 2,227,848 โดส เป็นวัคซีนซิโนแวครวม 5,550,891 โดส และแอสตร้าเซนเนก้ารวม 2,355,805 โดส