หมอยง แนะไทยปรับวิธีรับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกัน 10 เท่า รับมือเดลต้า

22 มิถุนายน 2564, 14:34น.


          การ Update สายพันธุ์ Delta จะมีผลกระทบต่อการได้รับวัคซีนหรือไม่ นพ.ยง ภู่วรรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความกังวลแพร่ระบาดโควิด สายพันธุ์ เดลต้า หากฉีดวัคซีน ทั้งไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มเดียว ภูมิคุ้มกันจะสูงไม่พอ ได้แค่ 20-30%  เพราะสายพันธุ์เดลต้า จะต้องใช้ภูมิคุ้มกันที่สูงถึงจะป้องกันโรคได้ ดังนั้น ขณะนี้เราต้องชะลอการระบาดสายพันธุ์เดลต้าให้มากที่สุด จึงต้องทำให้คนมีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ และจากการศึกษาพบว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 2 ของ แอสตร้า ฯหรือซิโนแวคยังมีภูมิคุ้มกันต่ำจำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 3 ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ได้จะเกือบเท่ากับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์และการฉีดเข็มที่ 3 หากฉีดในเวลาที่เหมาะสม จะกระตุ้นภูมิเพิ่มขึ้น 10 เท่า



          สำหรับการฉีดเข็มที่ 3 อาจข้ามวัคซีน หรือใช้วัคซีนตัวเดิมก็ได้ เช่น ฉีดซิโนแวค 2เข็ม เข็มที่ 3 อาจเป็นแอสตร้าฯ โดยขณะนี้กำลังศึกษาการให้เข็มที่ 3 ที่เหมาะสมว่า หลังจากให้ 2 เข็มแล้ว ควรให้ 3เดือน หรือ 6เดือน ถัดไป และคาดว่าข้อมูลจะออกมาเร็วๆนี้ และคิดว่าน่าจะทันเดลต้าที่กำลังเพิ่มขึ้น



          ส่วนจะสามารถชะลอสายพันธุ์เดลต้า ทันก่อนเปิดประเทศ 120 วันได้หรือไม่ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ตอนนี้ คงตอบไม่ได้ ขึ้นกับเราทุกคนต้องช่วยกัน ต้องลดการระบาด คุมให้ได้วันละ หลักสิบ หรือหลักหน่วย และเสียชีวิตแค่วันละ คน สองคน ถึงเวลานั้นอาจเปิดประเทศได้  แต่ถ้าเปิดประเทศในช่วงที่ยังมีคนติดเชื้อหลักพันคน ถึงเปิดไปก็คงไม่มีใครมา



          สำหรับหลังฉีดวัคซีนแล้วควรต้องตรวจดูภูมิคุ้มกันว่าขึ้นสูงหรือไม่ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เราไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิหลังรับวัคซีน เพราะแต่ละโรงพยาบาลจะมีวิธีตรวจที่แตกต่างกัน  ตัวเลขวัดก็ไม่เหมือนกันและผลไม่มีค่าอ้างอิง และไม่รู้ว่าตัวเลขนั้นแปลความอย่างไร เรื่องการตรวจภูมิคุ้มกันขอให้อยู่ในการวิจัยเท่านั้นโดยนำโควิดละสายพันธุ์ มาตรวจซีรั่มในเลือด เพื่อหาภูมิคุ้มกัน ถ้าตรวจจะเสียเงินเปล่าๆ อย่าเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ เช่น ค่าตรวจ 350 บาท จะเสียเงินเปล่า



          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าในอีก 120 วัน หรือ 4 เดือน คาดว่าจะมีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายไปได้จำนวนมากกว่าครึ่งของคนที่ต้องฉีดถ้าลดการระบาดได้อย่างที่ อ.ยงพูดปัจจัยทั้งหมดต้องประมวลออกมา ถ้าคนไทยช่วยกันเพื่อคุมตัวเลขลดการระบาด และฉีดวัคซีนมากขึ้น การระบาดก็น่าจะลดลง เราต้องเคร่งครัดในมาตรการ ถ้าไม่ทำก็จะเปิดไม่ได้ เช่น บางประเทศที่แพลนปลดล็อกดาวน์ต้องเลื่อนไป 



          สำหรับสายพันธุ์เบต้าที่แพร่ทางภาคใต้ ถ้าคุมโรคได้เร็วก็จะควบคุมแพร่ระบาดได้ และล่าสุดเบต้าที่เจอมาจากยะลา ส่วนจะมาจากนราธิวาสหรือไม่ ต้องขอเวลาสอบสวนโรคเพื่อดูพันธุกรรม 



          จำนวนผู้ติดเชื้อที่พบจำแนกตามสายพันธุ์ในรอบวันที่ 14-20 มิถุนายน 2564 พบว่า


          – สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ยังเป็นสายพันธุ์ที่มากสุดในไทย จากเดิมมี 4,528 คน ล่าสุดพบเพิ่มอีก 1,113 คน มากที่สุดอยู่ใน กทม. 387 คน ทำให้ยอดสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเมษายน 2564 สะสมแล้ว 5,641 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 88.9


          – สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) จากเดิมมี 496 คน พบเพิ่มอีก 170 คน อยู่ในเขตสุขภาพที่ 4 (สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี) จากเดิม 40 คน เพิ่มอีก 65 คน รวม 105 คน


          และมากสุดในเขต 13 (กทม.) จากเดิม 404 คน เพิ่มอีก 89 คน รวมเป็น 493 คน และเขตอื่น ๆ ทำให้ยอดสะสมสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายนถึงปัจจุบันพบสายพันธุ์เดลต้าแล้วทั้งสิ้น 664 คน คิดเป็น ร้อยละ 10.47 ซึ่งจะเห็นว่าสายพันธุ์นี้เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น


          – สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกา) จากมี 31 คน พบเพิ่มอีก 7 คน ในพื้นที่ภาคใต้ แบ่งเป็น 2 คน ที่ภูเก็ต เป็นนักเรียนที่กลับมาจากโรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา และที่ จ.ปัตตานี 4 คน จ.ยะลา 1 คน รวมยอดสะสมแล้ว 38 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.60
ข่าวทั้งหมด

X