ครม.รอประเมินสถานการณ์หลังรองนายกฯ ลงพื้นที่
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันนี้ยังไม่มีการทบทวนมาตรการแนวทางการเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” หลังพบคลัสเตอร์ใหญ่ที่จังหวัดยะลา มีผู้ติดเชื้อ 402 คน กระจายไปใน 11 จังหวัดภาคใต้ โดยมาตรการทั้งหมดจะขอรอประเมินสถานการณ์ หลังจากที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ลงพื้นที่ในวันที่ 25 มิ.ย.64 ขณะที่ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมโรค
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.ย้ำว่า จากการติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในพื้นที่ จ. ภูเก็ต ที่วันนี้พบ 3 คน และ ตัวเลขของจ.สุราษฎร์ธานี ที่ทั้งสองจังหวัดพบตัวเลขผู้ติดเชื้อรายเดียว การท่องเที่ยวในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ก็ยังดำเนินการต่อได้ ขณะเดียวกัน เราได้เรียนรู้แนวทางการจัดการโรค หากพบการติดเชื้อเป็นวงกว้างก็จะต้องปฎิบัติตามมาตรการที่ได้เตรียมไว้
กทม-ปริมณฑล พบติดเชื้อเกินครึ่ง รพ.ประสานรับผู้ป่วย
ที่ประชุมได้วิเคราะห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 4,059 คน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยอยู่ในกรุงเทพมหานคร 1,154 คน และปริมณฑลอีก 1,488 คน เกินครึ่งของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่แล้ว และจังหวัดอื่นๆ อีก 1,321 คน แสดงให้เห็นว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังพบการติดเชื้อมากที่สุด แสดงให้เห็นว่ามีการติดเชื้อในชุมชน ที่เรียกว่าไข่แดง ทำให้ยังต้องเดินหน้าการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก แยกออกมาจากคนที่ไม่ติดเชื้อ
คณะกรรมการอีโอซี มีความหนักใจ มีการวางแผนรับมือจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยมีการประสานการทำงานร่วมกันของโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน และ โรงพยาบาลบุษราคัม ประกอบกับกราฟของคนที่เข้าไปใช้ระบบยริการของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันด้วย
สมุทรปราการ ไม่ล็อกดาวน์ เป็นพท.เติบโตทางเศรษฐกิจ
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรปราการ ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรปราการ ออกหนังสือประกาศจังหวัดสมุทรปราการ ฉบับที่ 8 เรื่องมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าไม่มีแนวโน้มที่จะล็อกดาวน์ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่ใกล้เคียงมีลักษณะแตกต่างกัน สภาพในขณะนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็เป็นพื้นที่สีแดงเข้มเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ก็จะเป็นพื้นที่เสี่ยงสำหรับที่อื่น ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องล็อกดาวน์และด้วยสาระสำคัญ จังหวัดสมุทรปราการเป็นพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เป็นพื้นที่นโยบายของส่วนกลางจะมีการเปิดประเทศในระยะอันใกล้นี้ ทางเราก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปล็อกดาวน์
จ.สมุทรปราการ เจอผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นกว่า 600 คน เสียชีวิต 5 ราย
สถานการณ์ โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 13.00 น.
-พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 696 คน แบ่งเป็นในพื้นที่ จำนวน 635 คน แยกรายอำเภอ เป็น อ.บางพลี 379 คน อ.เมือง 235 คน อ.พระประแดง 19 คน อ.พระสมุทรเจดีย์ 1 คน อ.บางเสาธง 1คน
-รับมารักษาต่อในจังหวัดสมุทรปราการ 61 คน
-ผู้เสียชีวิต 5 ราย
1.ชายไทย 46 ปี ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ไม่มีโรคประจำตัวที่อยู่ ขณะป่วย ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
2.หญิงไทย 53 ปี ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ไม่มีโรคประจำตัว ที่อยู่ ขณะป่วย ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
3.ชายไทย 34 ปี ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคประจำตัว โรคอ้วน ที่อยู่ ขณะป่วย ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
4.หญิงไทย 94 ปี ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่อยู่ ขณะป่วย อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
5.ชายไทย 89 ปี ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน โรคประจำตัว หอบ ความดันโลหิตสูง ที่อยู่ขณะป่วย กทม.
ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 13,990 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 134 ราย
พรุ่งนี้ เอกชน พบนายกฯ ขอให้ทบทวนวงเงินกระตุ้นศก.
นายธนวรรธน์ พลวิชัยอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ประเมินผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกครั้งหลังเดือนก.ค.64 โดยต้องรอดูเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ระบบก่อน แต่ในเบื้องต้นเห็นว่า วงเงินจากโครงการคนละครึ่งเพียง3,000 ล้านบาทเป็นวงเงินที่อาจน้อยเกินไป ไม่เพียงพอกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้มีเสียงตอบรับจากประชาชนน้อย ไม่มีผลในการฟื้นเศรษฐกิจ และการเข้าพบนายกรัฐมนตรีของภาคเอกชนในวันพรุ่งนี้ เชื่อว่า จะมีการเสนอขอทบทวนวงเงินจำนวนดังกล่าวจากโครงการคนละครึ่งและการปัดฝุ่นโครงการช็อปดีมีคืนซึ่งเป็นโครงการเดิมนำกลับมาใช้อีกครั้ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจในการเข้าถึง Soft Loan การปรับโครงสร้างหนี้และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพราะยังติดขัดในระบบต่างๆไม่สามารถกระจายในการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น
ยะลา กำหนดให้ 2 ชุมชน เป็นพท.เสี่ยงโควิด ห้ามเข้า-ออก
ศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค.ยะลา ออกคำสั่งที่ 114/2564 กำหนดพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
กำหนดให้ 2 ชุมชน เป็นพื้นที่เสี่ยง ประกอบด้วย
-ชุมชนกุนงจนอง
-ชุมชนกือติง
มาตรการที่กำหนดว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง
-ห้ามใครเข้า-ออก หากมีความจำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอท้องที่นั้นๆทราบ
-กรณีที่ได้รับอนุญาต ให้เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องกำหนดเส้นทางการเดินทางให้ทราบอย่างชัดเจน
-หากมีการฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 64 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
สธ.นราธิวาส ประกาศให้ทุกคนที่กลับจาก มัรกัสกาลีซา รายงานตัวทันที
สำนักงานสาธารณสุข จ.นราธิวาส ขอให้ทุกคนที่เดินทางกลับจากปอเนาะตะห์ฟิซอัลกุรอาน มัรกัสกาลีซา หมู่ที่ 2 ต.กาลีซา อ.ระแงะ โทรแจ้งรายงานตัวที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ใกล้บ้านทันที มิเช่นนั้น จะดำเนินคดีทางกฎหมาย ถ้าหากทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด
ใช้ไม้แข็ง! ปธน.แถลงขู่ใครไม่ไปฉีดวัคซีน เตรียมติดคุก
ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ แถลงทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ขู่ลงโทษจำคุกสำหรับคนที่ไม่ไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระบุว่า ขอให้ทุกคนเลือกว่าจะไปรับวัคซีนหรือยอมถูกลงโทษจำคุกในกรณีไม่ไปรับวัคซีน นายดูเตอร์เต พูดเรื่องนี้หลังจากมีรายงานว่าศูนย์วัคซีนหลายแห่งในกรุงมะนิลามีผู้ไปรับวัคซีนในอัตราที่ต่ำมาก ทั้งๆที่ในปัจจุบันฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเอเชีย
นายดูเตอร์เต ถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าใช้มาตรการเข้มงวด เช่น การล็อกดาวน์กรุงมะนิลา เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงปิดโรงเรียนในฟิลิปปินส์อย่างไม่มีกำหนด เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ ชี้ว่า ประชาชน 2,100,000 คน รับวัคซีนครบสองเข็ม นับว่าล่าช้ามาก และอาจจะทำให้เป้าหมายที่ฟิลิปปินส์กำหนดว่าในปีนี้จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากร 110,000,000 คน ไม่สามารถทำได้ ขณะนี้ ฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยสะสม 1,364,239 คน เสียชีวิต 23,749 ราย