ญี่ปุ่น เตรียมส่งวัคซีนแอสตร้าฯ ให้ไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศญี่ปุ่นได้มีการเสนอบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (astrazeneca) ผ่านกระทรวงต่างประเทศมาให้กับประเทศไทย แต่ขอไม่เปิดเผยจำนวนวัคซีนที่จะส่งให้ เป็นเรื่องของสัมพันธไมตรี จำนวนเงินลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่นมีในประเทศไทยเป็นจำนวนมหาศาล มีประชากรและการจ้างแรงงานจำนวนมาก
วัคซีนโควิด-19 ที่รัฐจัดหาเดือน มิ.ย. 64 รวมแล้วเข้ามาถึง 8,500,000 โดส จะนำส่งมาทุกสัปดาห์ จากที่คาดว่าจะเข้ามาประมาณ 6,000,000 โดส ส่วนกรณีการพิจารณาให้วัคซีนซิโนแวคเข็ม 3 ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งได้มีการพิจารณาและรายงานทุกสัปดาห์อยู่แล้ว มีการศึกษาถึงขั้นว่าจะฉีดยี่ห้อเดียวกันหรือต่างยี่ห้อด้วยซ้ำ ซึ่งเราพร้อมทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการฯ
‘อนุทิน’เตรียมประชุม จัดเตรียมคน-ยาเวชภัณฑ์-วัคซีน รองรับเปิดประเทศ
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นสูงกว่า 3,000 คน จำเป็นต้องนำมาพิจารณาในช่วงที่รัฐบาลกำลังเตรียมเปิดประเทศ 120 วัน หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูทุกมิติควบคู่กัน ตอนนี้การติดเชื้อก็ต้องดูว่าติดรูปแบบไหน เป็นรูปแบบคลัสเตอร์ รูปแบบโรงงานมีแรงงานต่างด้าวหรือไม่ และจังหวัดดูแลดีหรือไม่ ปล่อยให้สัญจรไปมาหรือไม่ ไม่ใช่ว่าติดเชื้อในโรงงานแล้วปล่อยให้แรงงานเดินทางกลับบ้าน เดินทางไปไหนก็ได้เป็นแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจะต้องไปดูว่าการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ส่วนกระทรวงสาธารณสุขต้องรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและมาเตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ ยาเวชภัณฑ์ และวัคซีน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยในอีก 1-2 วันจะเชิญผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประชุมหารือแนวทางในการเตรียมการให้เป็นไปตามนโยบายของนายกฯ ทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม
กรณีการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าเข้ามาตามช่องทางที่ถูกต้องไม่มีหลุด เพราะต้องเข้าระบบกักตัว ซึ่งเชื้อนี้ต้องกักตัวถึง 21 วัน แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดความวุ่นวายตรงนี้คือคนที่ลักลอบเข้ามาคนที่ไม่ทำตามกฎระเบียบ เชื่อว่า ศบค.สั่งการไปยังหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ให้ดูแลตามแนวชายแดนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
คลัสเตอร์ โรงเรียนสอนศาสนาที่ยะลาติดเชื้อแล้ว 402 คน พบพฤติกรรมทานอาหารและทำกิจกรรมร่วมกัน
การติดเชื้อโควิด-19 จากศูนย์มัรกัส หมู่ 3 บ้านเปาะยานิ ต.สะเตงนอก อ.เมือง แพร่กระจายไปหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค. เปิดเผยว่า นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุข จ.ยะลา รายงานสถานการณ์ให้ที่ประชุมศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) รับทราบว่าคลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อ 402 คน กระจายไปอีก 11 จังหวัด เนื่องจากโรงเรียนสอนศาสนาแห่งนี้มีนักเรียนประมาณ 500 คน มาจาก 17 จังหวัด
จากการสอบสวนโรค พบว่า น่าจะมีผู้ติดเชื้อคนแรกเมื่อวันที่ 29 พ.ค.64 แต่ในตอนนั้นยังไม่มีการติดเชื้อแพร่กระจาย
การตรวจสอบไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ พบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมทานอาหาร ทั้งถาดอาหารและแก้วน้ำรวมทั้งทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะสรุปรายละเอียดเรื่องการติดเชื้อกลายพันธุ์ด้วย
มาตรการที่ดำเนินการแล้ว คือการปิดโรงเรียน การค้นหาเชิงรุกในชุมชน ออกประกาศแนะนำให้คนที่มีความสงสัยหรือคนที่มีความเสี่ยงจากการสัมผัสกับนักเรียนหรือบุคคลในชุมชนให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
นอกจากนี้ จุฬาราชมนตรี มีความเป็นห่วงพี่น้องชาวมุสลิม ในเดือน ก.ค.64 จะมีเทศกาลวันตรุษอีดิ้ลฟิตรี ซึ่งจะมีการเดินทาง มีการรวมกลุ่มจัดงานเลี้ยงขอให้ติดตามประกาศของจังหวัดอย่างใกล้ชิด
ที่ประชุม ศบค. หารือเรื่องการติดเชื้อในหลายพื้นที่ที่ทำให้ต้องสั่งปิดโรงเรียนว่า การสั่งปิดโรงเรียนจะต้องปรึกษากับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนและต้องมีมาตรการดูแลทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนที่ต้องเดินทางกลับบ้านว่าเมื่อเดินทางไปถึงแล้วจะต้องมีการกักตัว ไม่อนุญาตให้ไปพบกับครอบครัว ชุมชน หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาด เป็นต้น
‘หมอศุภกิจ'เผยสายพันธุ์เบตา ดื้อต่อวัคซีน การแพร่เชื้อไม่เร็วเท่าสายพันธุ์อัลฟาและสายพันธุ์เดลตา
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึง สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้ว่าส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์(อัลฟา) อังกฤษ ส่วนสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) เป็นอันดับรองลงมา แต่พบในแคมป์คนงานเพิ่มขึ้นทั้งแถวจ.นนทบุรี ส่วนภาคใต้เป็นสายพันธุ์เบตา(แอฟริกาใต้) ซึ่งจำนวนหนึ่งเจอนอก จ.นราธิวาส โดยเป็นจังหวัดในภาคใต้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนตัวเลขต่างๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ไม่ได้ปกปิด
ทั้งนี้ สายพันธุ์เบตา(แอฟริกาใต้) ดื้อต่อวัคซีนพอสมควร แต่ความสามารถในการแพร่โรคไม่เร็วเท่าสายพันธุ์(อัลฟา)อังกฤษและสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ดังนั้นที่กังวลตอนนี้คือสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย)ที่พบว่ามีการติดเชื้อในหลายจังหวัดแล้ว ตามหลักการได้แจ้งพื้นที่ให้ควบคุมแล้ว หากคุมได้ก็จะหยุดเร็วใน 14 วัน ไม่แพร่เชื้อในวง 2 วง 3 ต้องเคร่งครัดมาตรการต่างๆ จึงรายงานต่อฝ่ายความมั่นคงให้เข้มงวดแล้ว รวมทั้งการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย อย่างเชื้อเบตา(แอฟริกาใต้) มีความชัดเจนว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
นครศรีธรรมราช ปิดชุมชนและมัสยิด อ.เมือง หลังมีนักเรียนกลับจากยะลาติดเชื้อ
การแพร่ระบาดโควิด-19 ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันนี้ พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 25 คน ยอดผู้ป่วยสะสม 1,377 คน รักษาตัวในโรงพยาบาล 456 คน รักษาหายแล้วสะสม 902 คน เสียชีวิตเพิ่มเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.อีก 1 ราย
เป็นผู้ป่วยรายที่ 511 เพศชาย อายุ 61 ปี ภูมิลำเนา ต.ท่าวัง อ.เมือง ประวัติสัมผัสเดินทางมาจาก จ.ภูเก็ต ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 19 ราย สถานการณ์ที่ยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนโดยเฉพาะในชุมชน ที่ในวันนี้ มีการสั่งปิดทางเข้า-ออก ชุมชนมัสยิดปากพูนใต้ หมู่ 9 ต.ปากพูน อ.เมืองนครศรีธรรมราช และปิดมัสยิดเป็นเวลา 7 วัน หลังจาก พบนักเรียนจากศูนย์ฮาฟิศมัรกัสยะลา เดินทางกลับบ้าน ที่อยู่ในชุมชนและพบว่าผู้ติดเชื้อ ทำให้ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ต้องเสนอให้ นายวิทยา เขียวรอด นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีคำสั่งปิดชุมชนแห่งนี้
พร้อมทั้งมัสยิดห้ามไม่ให้มีกิจกรรมทางศาสนาอย่างน้อย 7 วัน โดยผู้ที่จะนำเครื่องอุปโภคบริโภคมาให้ต้องฝากไว้ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเทศบาลตำบลปากพูน อสม.ประจำ ตำบลที่คอยดูแลการเข้าออกตลอด 24 ชม.บริเวณทางเข้าชุมชนเท่านั้น
เบื้องต้น พบว่ามีนักเรียนจากศูนย์ฮาฟิศมัรกัสยะลา เดินทางกลับบ้านที่นครศรีธรรมราช รวม 11 คน พบว่าติดเชื้อแล้ว 8 คน เป็นนักเรียนในอำเภอเมือง 2 คน ใน อำเภอหัวไทร 3 คน แพร่เชื้อต่อให้แม่ 1 คน และเพื่อนของแม่อีก 1 คน ในอำเภอท่าศาลา 3 คน ทำให้ชาวบ้านหวาดวิตกว่าการพบเชื้อในนักเรียนกลุ่มนี้ เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่เรียกว่าเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อาจสร้างการแพร่ระบาดที่ร้ายแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากกลุ่มผู้ติดเชื้อให้ข้อมูลว่า นักเรียนที่ติดเชื้อในจังหวัดอื่นๆ ที่พบการติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้นเป็นเพื่อนที่อยู่กลุ่มเดียวกันและเดินทางกระจายกันกลับบ้านพร้อมกัน
นอกจากนั้น ผู้ติดเชื้อในจังหวัดนครศรีธรรมราชวันนี้ ยังพบกลุ่มผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์โรงงานทำทองคำเปลวที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ200 คนแล้ว ล่าสุดพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 8 คน และนำไปแพร่ในงานบวชในอำเภอนบพิตำอีก 4 คน
และยังพบการติดเชื้อในพ่อค้าข้าวหมกไก่ย่านตำบลตลาดท่าแพอีก 1 คน เจ้าหน้าที่อยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค รวมทั้งยังพบคลัสเตอร์วงพนันในครอบครัวของปากพูนอีก 2 คน ขณะนี้ นครศรีธรรมราช ยังมีผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่ใน รพ.เกือบ 600 คน