อธิบดีกรมการแพทย์ พบปัญหาเดิม คนตรวจหาเชื้อจากแล็บเอกชนที่ไม่ได้มาตรฐาน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึง สถานการณ์ขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน พนักงานบริษัทเอกชน ทำให้บริษัทต่างๆต้องการให้แรงงานเข้ารับการตรวจหาเชื้อก่อนเข้าทำงาน จึงหันไปใช้บริการตรวจจากแล็บเอกชน จากข้อมูลของศูนย์สายด่วน 1668 พบว่า ขณะนี้ผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาต้องการหาเตียงนอนโรงพยาบาลโดยได้ไปตรวจหาเชื้อจากแล็บเอกชนที่ไม่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือวิธีอื่นที่ไม่ใช่วิธี RT-PCR ซึ่งมีราคาถูกกว่า เช่น การเจาะเลือดตรวจแบบ Rapid test หรือการทำ swab หา Antigen ทางศูนย์ 1668 หรือโรงพยาบาล จึงยังไม่สามารถจัดสรรเตียงให้ได้ทันที และต้องให้ผู้ที่ต้องการเตียงกลับไปตรวจด้วยวิธีมาตรฐานคือ RT-PCR ใหม่ ทำให้เสียเวลาและต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน
เตือนตรวจหาเชื้อต้องวิธี RT-PCR
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกอบการบริษัทเอกชนที่มีความประสงค์จะให้แรงงาน พนักงาน ตรวจโควิด-19 ก่อนเข้าทำงาน ขอให้ติดต่อไปที่หน่วยงานสถานพยาบาลของรัฐ หรือหากจะตรวจโดยคลินิกแล็บเอกชน ต้องขอหลักฐานการได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในการเป็นหน่วยตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 และต้องแน่ใจว่าเป็นการตรวจแบบ RT-PCR จะช่วยให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างถูกต้องและใช้เป็นหลักฐานในการขอจัดสรรเตียงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
CR:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
‘หมอยง’ แนะฉีดวัคซีนแอสต้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้น ป้องกันสายพันธุ์เดลตา
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊กถึงวัคซีนโควิด-19 กับการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ระบุว่า ขณะนี้ในไทยเริ่มมีสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) อย่างแน่นอน จึงต้องการระดับภูมิต้านทานของวัคซีนที่สูงในการป้องกัน พร้อมแนะนำว่าขณะนี้ของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) แต่ในอนาคตอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคงจะหนีไม่พ้นที่จะมีสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะมาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) ตามวิวัฒนาการของไวรัส
นพ.ยง เห็นด้วยที่จะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 เร็วขึ้น จะมีประโยชน์ในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา และในทำนองเดียวกันวัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่าคงจะต้องใช้การกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ระดับภูมิต้านทานสูงขึ้น เพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลตาจนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ให้ตรงกับสายพันธุ์ที่มีการระบาด พร้อมระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเฝ้าระวัง และป้องกันไม่ให้สายพันธุ์เดลตาระบาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อรอจำนวนวัคซีนที่จะมาและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัคซีนในอนาคตให้ตรงและจำเพาะกับสายพันธุ์
สุพรรณฯ เอาผิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่เข้ารักษาตัว
หลังจากในพื้นที่ อ. อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 คน เป็นชาว ต.จรเข้สามพัน 2 คน และตำบลบ้านดอน 2 คน แต่ 1 ใน 2 คนนี้ เป็นชาย อายุ 56 ปี ปฏิเสธเข้ารักษาตัว นายสยาม ไฝเพชร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.บ้านดอน อ.อู่ทอง เข้าพบ ร.ต.อ.วีรยุทธ สุขแสง รอง สว. (สอบสวน) สภ.สระยายโสม เนื่องจากได้รับมอบหมายจากนายเสกสรร ถนอมกิตติ นายอำเภออู่ทอง ให้มาแจ้งความลงบันทึกประจำวัน กรณีผู้ป่วยชายที่ปฏิเสธเข้ารับการรักษาและยังขับรถยนต์ไปอู่ซ่อมรถในพื้นที่จ.สมุทรสาคร
นายสยาม เปิดเผยว่า ผู้ป่วยชายรายนี้และภรรยา มีลูกชายป่วยติดเชื้อ จึงไปตรวจ และผลออกมาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.64 เจ้าหน้าที่จึงติดตามผู้ติดเชื้อมารักษาแต่ชายคนดังกล่าวปฏิเสธและแจ้งว่าจะขับรถไปทำธุระที่ จ.สมุทรสาคร และในช่วงเย็นจะกลับมารักษาและแม้ว่าชายคนดังกล่าวจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอู่ทองแล้วก็ตาม แต่นายเกริกฤทธิ์ จิตณรงค์ ปลัดอำเภออู่ทอง ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ติดเชื้อรายนี้ อย่างเด็ดขาด ในความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค พ.ศ. 2558 มาตรา 34 (1) และฝ่าฝืนคำสั่ง จ.สุพรรณบุรี เพื่อ ให้เป็นตัวอย่างสำหรับคนที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
อยุธยา ตรวจเชิงรุกพบเจ้าหน้าที่กู้ภัยติดเชื้อ 11 คน
สำนักงานสาธารณสุข จ. พระนครศรีอยุธยา รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่าจากรายงานของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พบว่า มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยอยุธยา โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานวิทยุของศูนย์วิทยุกู้ภัยอยุธยา ที่ ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา เข้ารับการตรวจเชิงรุกเพื่อหาเชื้อ พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 11 คน ขณะนี้กำลังสอบสวนโรคอย่างละเอียดว่าติดเชื้อจากที่ใด พนักงานกลุ่มนี้คือจิตอาสาที่ออกช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐและประชาชนช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 11 คน อยู่ในพื้นที่ อ.อยุธยา 6 คน อ.บางบาล อ. นครหลวง พื้นที่ละ 2 คน และ อ.ภาชี 1 คน ขณะนี้โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจร่างกายผู้ติดเชื้อทุกคนเข้าสู่กระบวนการรักษาตัวในสถานพยาบาล และค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และสอบสวนโรคในพื้นที่แล้ว
นอกจากนี้ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ออกประกาศข้อปฏิบัติแบบเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล ห้ามบุคคลภายนอกเดินทางมาเยี่ยมคนป่วยที่นอนรักษาตัวในทุกกรณี กรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อนุญาตให้เฝ้าไข้ได้ 1 คนต่อ 1 เตียงรักษาเท่านั้น โดยผู้ที่จะมาเฝ้าไข้ ต้องเฝ้าอย่างน้อย 7 วัน ถึงจะผลัดเปลี่ยนกัน และผู้ที่เปลี่ยนมาเฝ้าไข้ต้องทำการตรวจ swab ด้วย