ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30น.วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564

18 มิถุนายน 2564, 06:15น.


กทม.เร่งกระจายวัคซีน 350,000-420,000 โดส ฉีดให้คนที่ถูกเลื่อน



          กรุงเทพมหานคร (กทม.)โดยสำนักอนามัย แจ้งว่า กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดสรรวัคซีน Astra Zeneca จำนวน 35,000 ขวด หรือประมาณ 350,000-420,000 โดส (1 ขวดฉีดได้ 10- 12 โดส) ซึ่งตามนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เร่งประสานนำไปฉีดให้ผู้ที่ถูกเลื่อนนัดจากการลงทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” 14-30 มิ.ย.64 และ บางส่วนของ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย”



         ทั้งนี้ ได้จัดสรรวัคซีนดังกล่าวให้โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 126 แห่ง เพื่อให้บริการกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค จำนวน 25,000 ขวดหรือเกือบๆ 300,000 โดส และจัดสรรให้หน่วยความร่วมมือบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 หน่วย เพื่อให้บริการกับประชาชนทั่วไป จำนวน 10,000 ขวดหรือประมาณ 100,000-120,000 โดส



          ในส่วนของผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคที่เลื่อนนัดก่อนหน้านี้ เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลกำหนดวันไม่เหมือนกัน โรงพยาบาลที่มีชื่อจองวัคซีนไว้จะแจ้งกำหนดวันให้บริการวัคซีนผ่านช่องทางของโรงพยาบาลนั้น ๆ



          ส่วนประชาชนที่แจ้งความประสงค์ผ่านระบบ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯปลอดภัย” สามารถติดตามข้อมูลได้ทางเพจ ไทยร่วมใจกรุงเทพฯ ปลอดภัย และเพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักประชาสัมพันธ์



เย็นนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปิดรับการยื่นจองวัคซีน ซิโนฟาร์ม



          ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะปิดรับการยื่นความประสงค์ขอรับวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ระยะที่ 1 ผ่านระบบออนไลน์เวลา 16.00 น. เย็นนี้



          สำหรับองค์กรที่ยื่นความประสงค์ผ่านระบบเข้ามาแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง “จำนวนวัคซีน” ได้ทุกกรณี



          เมื่อวานนี้ มีจำนวนองค์กรที่ยื่นความประสงค์ขอรับวัคซีนตัวเลือก ระยะที่ 1 (สำหรับองค์กรและหน่วยงาน)



-ยอดองค์กรเพิ่ม จำนวน 1,841 องค์กร



-ยอดจำนวนบุคคลที่องค์กรยื่นขอรับการจัดสรรเพิ่ม 302,863 คน



-ยอดองค์กรสะสม จำนวน 14,634 องค์กร



-ยอดจำนวนบุคคลที่องค์กรยื่นขอรับการจัดสรรสะสม 4,545,272 คน



หมอ เผยเคสปลัดอำเภอหญิงเสียชีวิต ถือเป็นกรณีศึกษา ต้องผ่าชันสูตร -นำชิ้นเนื้อไปตรวจหาสาเหตุ



          เรื่องน่าเศร้ากรณีการเสียชีวิตของน.ส.วรรณี คงทอง อายุ 58 ปี ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียน ที่ว่าการอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ที่ป่วยโควิด-19 แล้วรักษาหาย ต่อมาเสียชีวิตจากอาการปอดติดเชื้อรุนแรง โดยปอด 2 ข้างได้รับความเสียหายเหลือเพียง 20% ทำให้ป่วยหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ



          นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การเสียชีวิตของน.ส.วรรณี เป็นกรณีศึกษา เดิมมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง ต่อมาติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาเมื่อวันที่ 14-30 เม.ย.64 เมื่อหายป่วยได้กลับบ้าน จนวันที่ 27 พ.ค.64 มีอาการหายใจไม่สะดวก จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ไม่มีไอหรือเสมหะ ไม่เจ็บคอ รับประทานอาหารได้ ไม่มีอาเจียนหรือถ่ายเหลวแต่มีไข้ ตรวจไม่เจอเชื้อโควิด-19  รักษาตัวที่ตึกอายุรกรรม 2 จากอาการปอดอักเสบรุนแรง ผลเอกซเรย์พบปอดมีฝ้าขาว ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น จึงใส่ท่อช่วยหายใจให้ยาฆ่าเชื้อ พบมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบหายใจล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิต



          นพ.สุริยะ ระบุว่า หากครอบครัวสงสัยว่าเป็นปัญหามาจากการติดเชื้อโควิด-19 รอบแรกหรือไม่ ชี้แจงว่า ไม่มีรายงานแบบนี้ในประเทศไทยว่าหายแล้วยังติดเชื้ออีก การติดเชื้อรอบแรกไม่มีอาการชี้ว่าทำให้ปอดเสื่อม หากญาติอยากทราบข้อมูลต้องนำชิ้นเนื้อไปตรวจสอบ เพื่อหาผลข้างเคียงจากพยาธิสภาพที่ รพ.จุฬา หรือ รพ.ศิริราชเพื่อตรวจว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เกือบ 3 อาทิตย์ที่รักษา คนไข้มีอาการหนักสุด 3 วันก่อนเสียชีวิตมีไตวายเฉียบพลัน ต้องฟอกเลือดที่ห้องไอซียู จนเสียชีวิต



          เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างในเสมหะซ้ำทั้งสองครั้งไม่พบเชื้อโควิด-19  เก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสทั้ง 34 ตัวไม่พบ แต่ในกระแสเลือดพบแบคทีเรียให้ยารักษาแต่ร่างกายผู้ป่วยต้านไม่อยู่ เพราะเชื้อจุลินทรีย์ไปตามกระแสเลือดที่ไต-ตับ



          ในระดับโลกยังไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19  เมื่อรักษาเสร็จอาจมีอาการทางปอด ปอดจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม 100% แต่ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการดังกล่าว ยืนยันว่า อาการที่เสียชีวิตไม่ใช่โควิด-19 จะทำได้เพียงอย่างเดียวคือผ่าชันสูตรและให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปอดเป็นผู้ตรวจสอบ



ปลัดหญิงและจนท.ติดเชื้อ หลังลงพท.ทำบัตรปชช.ให้ผู้ป่วยติดเตียง -ผู้สูงอายุ



          นายศราวุธ จิระพิทักษ์กุล นายอำเภอเมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ก่อนติดเชื้อโควิด-19  น.ส.วรรณี พร้อมลูกจ้างในหน่วยงานออกพื้นที่ไปเปิดหน่วยบริการทำบัตรประชาชนให้ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ให้ได้รับสิทธิเงินเยียวยาจากรัฐบาล ต่อมา พบว่า น.ส.วรรณีและลูกจ้าง 2 คน ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาตัวใน รพ.รักษาจนหายและตรวจไม่พบเชื้อ จึงได้สั่งให้กักตัวเองที่บ้าน 14 วัน ก่อนมาทำงานจากนั้นล้มป่วยและเสียชีวิต



          ด้านนายประทีบ คงทอง อายุ 55 ปี น้องชายผู้เสียชีวิต กล่าวว่า พี่สาวสุขภาพปกติแข็งแรงดีไม่ได้เป็นโรคอะไรเพียงแต่อายุมาก ช่วงที่ติดโควิด-19 เมื่อเดือนเม.ย.64 พี่สาวไม่ได้บอกให้ที่บ้านทราบเพราะกลัวแม่เครียด



          การรักษารอบหลังทราบจากแพทย์ว่าไม่พบเชื้อโควิด-19  รพ.ได้รักษาตามอาการ การรักษามีข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นอาการโรคใหม่ หรือมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเป็น long term covid หรือผลจากโควิด-19 ในระยะยาว เป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ ปอดติดเชื้อ ร่างกายของพี่สาวทนไม่ไหว เนื่องจาก ปอดถูกทำลายไปมาก ญาติไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิตและครอบครัวนำศพไปทำพิธีทางศาสนาที่วัดเกาะหลัก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์



“หมอนิธิพัฒน์”ห่วงการระบาดรอบ 4  ชี้ สายพันธุ์อินเดีย-แรงงานผิดกม.เป็นสาเหตุทำให้มีผู้ป่วยหนัก



          รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชา โรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ยอดผู้ป่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไม่ยอมลด แถมยอดผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เติมเข้ามาใน รพ.หลักกลับมาเพิ่มใหม่ หลังดีใจได้ไม่กี่วัน ส่วนตัวคิดว่าอาจเป็นจาก



1. มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อินเดีย เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์ที่เข้ามาใหม่จะแสดงความรุนแรงทั้งในการแพร่กระจายง่ายและรุนแรงในแง่ของการเจ็บป่วย



2. การควบคุมการแพร่กระจายในกลุ่มแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายทำได้ดีพอ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายนี้ น่าจะแทรกซึมเป็นวงกว้าง ตั้งแต่งานบริการในครัวเรือน กิจการขนาดเล็ก ไปจนถึงสถานประกอบการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดยิ่งใหญ่ อาจต้องพึ่งอำนาจพิเศษหรือมือที่มองไม่เห็น เพราะหากไม่รีบดำเนินการตัดตอนเรื่องนี้ให้ดี เกรงว่าวิกฤตโควิดระลอกสี่จะหนีไม่พ้น



          ที่น่ากลัวคูณสองหรือมากกว่านั้นคือปัญหาข้อ 1. และข้อ 2.มีการเชื่อมโยงกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่ากังวลเรื่องการผ่อนผันมาตรการควบคุมโรคในกรุงเทพมหานคร และมาตรการเปิดประเทศใน 120 วัน



CR:FB หมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล

ข่าวทั้งหมด

X