ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติ 201 เสียง อนุมัติ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติแล้ว กำหนดปรับแก้ไขดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ - ห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อน ช่วยลดภาระลูกหนี้จากผลกระทบโควิด-19
สำหรับสาระสำคัญร่าง พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว กำหนดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่นิติกรรมหรือกฎหมายมิได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งลงเหลือเพียงร้อยละ 3 ต่อปี และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 224 ที่บัญญัติอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดชำระหนี้เหลือเพียงในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 (ร้อยละ 3) บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี รวมทั้งบัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น
นอกจากนั้น ที่ประชุมสว.ยังมีมติอนุมัติพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติแล้ว ด้วยคะแนน 173 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะให้สถาบันการเงินกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กู้ยืมตามที่กำหนด ในวงเงินไม่เกิน 2.5 แสนล้านบาท
สำหรับมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินเป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้ผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ยืนยันว่า จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ให้ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นำไปสู่การเลิกกิจการถาวรและการถูกยึดทรัพย์ อีกทั้งป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ถูกขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกหนี้ และสามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม