สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย นางอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชนและภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกอุ้มหายตัวไปเมื่อหลายปีก่อน ระบุว่าสถานการณ์ดีขึ้นหากเทียบกับช่วง 20 ปีที่แล้ว แต่ยังพบปัญหาหลายประการ เช่น นายทุนหรือกลุ่มการเมืองอาศัยอำนาจควบคุมสื่อมวลชนและประชาชนในการเสนอข้อคิดเห็น และอุปสรรคทางกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้สิทธิมนุษยชนในไทยไม่ก้าวหน้า ส่วนตัวจึงต้องการให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติกฎหมายในหมวดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนให้รองรับคุ้มครองประชาชนและสื่อมวลชนให้ชัดเจน ปราศจากการแทรกแซงของกลุ่มองค์กรใดๆ นอกจากนั้น ยังมองว่า ประชาชนต้องแสดงความเห็นได้เสรีตามสิทธิที่มีอยู่ ไม่ใช่ถูกห้ามปรามจากรัฐ แม้ว่าการเปิดให้มีเสรีภาพที่หลากหลายอาจนำมาซึ่งความเห็นต่างจำนวนมาก แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดความแตกแยกทางสังคม หากทุกฝ่ายรู้จักเคารพสิทธิของกัน รวมทั้งได้ขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเร็ว เพราะไม่เห็นความจำเป็นของการคงไว้ เนื่องจากประเทศมีความสงบดี ส่วน การปฎิรูปประเทศคงสำเร็จไม่ได้ หากจำกัดสิทธิ เสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ความหวาดกลัวความเห็นจากประชาชน เพราะการปฎิรูปประเทศต้องอาศัยความเห็นจากทุกๆฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันตามข้อเท็จจริง จึงจะนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบได้
ด้านนายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์การนิรโทษกรรมสากลหรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตส่วนตัวต้องการให้มีการเลือกตั้งและรัฐบาลต้องมีมาตรการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน รวมทั้งประชาชนควรยกเลิกระบบวัฒนธรรมในอดีตที่ผิดๆว่าห้ามโต้แย้งผู้ที่อาวุโสกว่า พร้อมกันนี้ผู้นำประเทศและสื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำในการยอมรับความเห็นและให้สิทธิ เสรีภาพจากทุกฝ่ายและทำงานอย่างตรงไปตรงมา สิ่งรัฐบาลที่ต้องดำเนินงานอย่างโปร่งใส เพื่อให้เป็นที่ไว้ใจของประชาชน ส่วนประชาชนเองก็มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ดังปรากฎการอาหรับสปริงที่ประชาชนใช้สื่อออนไลน์ในการเปลี่ยนแปลงประเทศมาแล้ว ส่วนปัจจัยหลายประการซึ่งเป็น ปัญหาต่างๆส่งผลให้ไทยถูกลดระดับอยู่ในเทียร์ 3 เช่น การมีช่องว่างทางสังคม กฎหมาย การค้าประเวณี รวมทั้งสิทธิมนุษยชนยังขัดกับหลักวัฒนธรรมไทย เช่น ระบบอุปถัมภ์ ระบบอาวุโส ค่านิยมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ จึงทำให้เกิดผลแห่งการแบ่งแยกตามมา
ในวันนี้ แอมเนสตี้ได้มอบรางวัลสิทธิมนุษยชน โดย มีสื่อมวลชนได้รับรางวัลใน 3 ประเภท เช่น รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ชุดบทความเรื่อง Is Khon Karen the new model of justice? รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เช่น สารคดีเชิงข่าว เรื่อง ข่มขืนบนรถไฟกับกระบวนการยุติธรรมคดีทางเพศ แอมเนสตี้ เริ่มเข้ามาในไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 และก่อตั้งในปี พ.ศ. 2546 มีสมาชิกกว่า 1,000คนทั่วประเทศ
ธีรวัฒน์