หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลผู้ถูกกล่าวหา21 ราย แบ่งเป็น นักการเมือง 3 ราย คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าวต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรม และอดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ บุคคลอีก 13 รายที่เกี่ยวพันกับบริษัทสยามอินดิก้า และบริษัทเอกชน 2 ราย คือ บริษัท สยามอินดิก้าจำกัด และบริษัท สิราลัย จำกัด หรือบริษัทกีธา พร็อพเพอร์ตี้
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าของเงิน สามารถยื่นฟ้องทางแพ่งเรียกชดเชยค่าเสียหาย คล้ายกับกรณีการเรียกค่าเสียหายต่อรัฐอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทปี2540 แต่ต้องตรวจสอบ "ตัวเลขความเสียหาย" ที่แน่นอนก่อน เป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินโครงการขนาดใหญ่มีจุดโหว่ไม่มีการทำ"ระบบบัญชี" ได้อย่างไร เอกสารการส่งคืนเงินค่าข้าวให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถูกปรับลดรายละเอียดบางอย่างเพื่ออำพรางการทุจริต เช่น ไม่ระบุว่าขายข้าวก้อนใด คลังใด หรือกรณีใบออกสินค้าที่กรมการค้าต่างประเทศ ส่งไปรับข้าวที่คลังไม่มีการระบุปริมาณ ราคา ชนิด คลังอย่างครบถ้วนตามที่เคยปฏิบัติในอดีต สะท้อนว่า ข้าราชการดำเนินการภายใต้นโยบายของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ควรต้องมีการตรวจสอบและเอาผิด แต่หลังจากนี้รัฐบาลควรขึ้นแบล็กลิสต์ "บริษัท" หรือ "กรรมการบริหาร" บริษัทที่ถูกชี้มูลไม่ให้เข้าร่วมการประมูล เพื่อป้องกันไม่ให้ตั้งนอมินีขึ้นมาแทนโดยเด็ดขาด