การประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือสปช. ที่มีนาย เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาในช่วงเช้า คือ การรับทรายรายงานโครงการสัมมนาประชุมเชิงปฏิบัติการวิสัยทัศน์ประเทศไทยของสมาชิก สปช.ที่มีการจัดประชุมกันไปเมื่อวันที่ 19-20 มกราคม 2558 โดย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวรายงานว่า หลังการจัดสัมมนา พบว่ามีวาระการปฎิรูปกว่า 34 วาระ และมีวาระการพัฒนา 7 วาระ โดยวาระการปฎิรูปครอบคลุมในทุกด้านของประเทศและอาจต้องใช้เวลานานในการปฎิรูปเพราะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนาดใหญ่ โดยข้อเสนอของการปฎิรูป ได้แก่ การเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รัฐเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการดำเนินงานด้านงบประมาณ การปฎิรูปองค์กรอิสระ การพัฒนาระบบศึกษาและการวิจัย การเสนอให้ปรับโครงสร้างอำนาจและความสัมพันธ์ของส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น เพื่อมิให้เกิดการทำงานที่ทับซ้อนกัน และยังมีการเสนอให้ปฎิรูประบบภาษีการคลัง เพื่อลดความเลื่อมล้ำด้วย ส่วนวาระการพัฒนานั้น นายสุวิทย์ ระบุว่า เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เพราะจะช่วยยกระดับความสามารถของประชาชน โดยจากการสัมมนามีข้อเสนอที่สำคัญในการพัฒนา เช่น การพัฒนาและป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ที่ประเทศยังไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีบุคลากรน้อย ทั้งที่การขนส่งโลจิสติกส์มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะหลังการเปิดประชาคมอาเซียน เพราะการขนส่งสินค้าจะมีความเสรีมากขึ้น และจะต้องพัฒนาให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนด้วย อย่างไรก็ดี ทุกข้อเสนอ คณะกรรมาธิการจะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสปช.เพื่อเป็นแนวทางในการปฎิรูปต่อไป
ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเช้าวันนี้ เป็นการพิจารณาถึงเรื่อง การกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกผู้แทนราษฏร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยกำหนดให้จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช หรือ องค์กรที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามที่กฏหมายกำหนด และที่ประชุมยังเสนอให้คณะกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบ พร้อมกันนี้จะต้องกำหนดรายชื่อและ ตำแหน่งของข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนคำนิยามของแต่ละตำแหน่งที่จะยื่นบัญชีนั้นจะนำไปกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
...ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร