ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2564

12 เมษายน 2564, 10:06น.



ปชช.กังวลรายได้ลด ระวังการใช้จ่ายช่วงสงกรานต์




         นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนมีความต้องการใช้ธนบัตรอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ ธปท.ประมาณการว่า ธนาคารพาณิชย์ จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรจากธปท.เพิ่มขึ้นจากการเบิกจ่ายปกติประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากปี 63 ที่มีการเลื่อนวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และใกล้เคียงกับปี 62 โดยสะท้อนมาตรการภาครัฐเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่แนวโน้มการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง



          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นตัวแปรสำคัญของการได้มาซึ่งรายได้ในอนาคตของประชาชน ไม่ว่าจะในฐานะของผู้ประกอบการหรือบุคคลทั่วไป แน่นอนว่าตัวเลขรายได้เป็นเหตุผลสำคัญของการระมัดระวังการใช้จ่าย สะท้อนแนวโน้มสถานการณ์กำลังซื้อในระยะข้างหน้าจึงยังมีความเปราะบาง ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเวลาและรูปแบบที่เหมาะสมจึงน่าจะยังเป็นกลไกที่สำคัญในระยะนี้ 



คนกรุงฯ ใช้เงินช่วงสงกรานต์ลดลง 4 % ปรับพฤติกรรมซื้อของไปทำกินเอง



แม้ว่าปีนี้จะมีวันหยุดสงกรานต์ตามปกติ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า



-การใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ปีนี้คงหดตัวและยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สอดคล้องกับภาพรวมของสถานการณ์ค้าปลีกทั้งปีที่อาจยังไม่ฟื้นตัว



-ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและราคาเป็นหลัก โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังจากมาตรการฯ สิ้นสุดไปแล้ว



          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เฉลี่ยต่อคนอาจอยู่ที่ 5,700 บาท (คำนวณที่วันหยุดเฉลี่ย 6 วัน) ส่งผลให้เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ รวมน่าจะอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท ยังคงหดตัวร้อยละ 4 และไม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติเมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปี62 โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงสังสรรค์รับประทานอาหารมากที่สุดอยู่ที่ 9,795 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนวันหยุดเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัว ขณะที่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ ปรับตัวลดลงทั้งหมด



         ขณะที่ ผู้ประกอบการที่สามารถบริหารจัดการและสร้างความเชื่อมั่นทางมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น มีระบบสั่งอาหารออนไลน์ และ รับได้ที่ร้าน จองโต๊ะล่วงหน้า จัดคิวซื้อสินค้า การรักษาความสะอาดในร้าน และเว้นระยะห่างโต๊ะที่นั่ง ควบคู่ไปกับโปรโมชันด้านราคา น่าจะมีรายได้ เข้ามาช่วยประคองธุรกิจในช่วงเวลาดังกล่าวได้บ้าง



         ผู้บริโภค ปรับพฤติกรรมมาซื้ออาหารกลับไปฉลองที่บ้านมากขึ้น และลดเวลาการอยู่นอกบ้าน ส่งผลให้ร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการของรัฐโดยเฉพาะร้านที่เน้นจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม วัตถุดิบสำหรับนำไปปรุงอาหารที่บ้าน น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการฯ รวมถึงการสั่งอาหารผ่าน Good Delivery ที่มีความสะดวกสบาย ทำให้ผู้บริโภคยังคงเลือกใช้บริการ สอดคล้องไปกับผลสำรวจที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกสังสรรค์รับประทานอาหารที่บ้าน



         ขณะที่  ผู้ประกอบการค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ยังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์จากโครงการของรัฐ เนื่องจากมีความสะดวกครบครัน อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่จะเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อเฉลิมฉลองเพียงบางมื้อ และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ชุมชน ดังนั้น ทั้งร้านอาหารและร้านค้าจะต้องปรับกลยุทธ์ เช่น เพิ่มเมนูอาหารสำหรับปรุงรับประทานที่บ้าน อาหารชุดสำหรับครอบครัว สินค้าราคาพิเศษ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมดังกล่าว 



เอกชน เสนอเปิดสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 หลังปิดหนีโควิดมาเป็นปี



         การค้าชายแดน การปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมต้านการรัฐประหารในเมียนมา และวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ทางการจีนได้ปิดด่านพรมแดนรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน ที่เชื่อมกับเมืองมูเซ ของเมียนมา ทำให้ช่องทางการค้าระหว่างรัฐฉานกับประเทศต่างๆ ปิดเกือบทั้งหมดเพราะ สปป.ลาว ปิดพรมแดนตลอดแนว เหลือเพียงจุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่เปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 เพื่อขนส่งสินค้าเท่านั้น ทำให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าเป็นไปอย่างคึกคัก



          น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานหอการค้า อ.แม่สาย กล่าวว่า เนื่องจากรัฐฉานของเมียนมามีความต้องการสินค้าไทยเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง อุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ เป็นที่นิยมมาก ดังนั้น การเปิดจุดการค้าผ่าน อ.แม่สาย ยังคงมีความสำคัญต่อทั้ง 2 ประเทศ ล่าสุดแม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงในเมียนมา รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 การค้าด้าน อ.แม่สาย ก็ยังคงคึกคักและมีรถขนส่งสินค้าให้บริการขนสินค้ากว่า 300-400 คัน และจากการที่กองทัพเมียนมาประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 1 เดือนในเดือนเม.ย.64 ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ



         จากการที่มีการค้าที่คึกคัก ทำให้ส่วนท้องถิ่น จ.ท่าขี้เหล็ก ที่มีข้อตกลงป้องกันไวรัสโควิด-19 กับฝ่ายไทย เสนอขอให้รถตู้ขนส่งสินค้าจากเมียนมาสามารถขับเข้ามาลึกถึงเขตตัวเมืองแม่สายเพื่อไปรับสินค้าตามโกดัง ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า จากเดิมที่ต้องเปลี่ยนคนขับตรงสะพานข้ามแดนเท่านั้น



          นอกจากนี้ เมียนมายังอนุญาตให้คนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่จากฝั่งไทยขับเข้าไปในท่าขี้เหล็กโดยไม่ต้องเปลี่ยนคนขับเป็นชาวเมียนมาเพียงแต่ให้สวมชุดป้องกันหรือพีพีอีเท่านั้นอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้าไทยเป็นที่ต้องการของเมียนมาอย่างมาก



         ประธานหอการค้า อ.แม่สาย เสนอในการประชุมส่วนราชการและภาคเอกชน ขอให้เปิดจุดการค้าเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 ที่ปิดมาตั้งแต่ต้นปี 63 เพื่อแบ่งเบาการขนสินค้าของสะพานแห่งที่ 2 รวมทั้งดำเนินการตามรูปแบบของ จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีการเปิดจุดผ่อนปรนทุกจุดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 เป็นต้นมา 



พาณิชย์ ปลื้มทุเรียนราคาดี แต่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกไม่พอ



         นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ สั่งการกรมการค้าภายใน ติดตามสถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรอย่างใกล้ชิด และจากรายงานข้อมูลสินค้าเกษตรสัปดาห์ที่ 5 ของเดือนมี.ค.64   พบว่า สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว มันสำปะหลัง ทุเรียน มะพร้าวผลแก่ หอมแดง และ หอมหัวใหญ่ ส่วนทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก เริ่มทยอยออกสู่ตลาดโดยจะออกกระจุกตัวมากในช่วงเดือนเม.ย.-ก.ค.64 ขณะที่ การส่งออกยังมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์รวมทั้งประเทศนำเข้าปลายทางเข้มงวดการตรวจสอบสินค้าและมาตรฐานสินค้าในสถานการณ์นี้เป็นการเพิ่มขั้นตอนการส่งออกและเพิ่มต้นทุนสินค้าซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากในช่วงทุเรียนออกสู่ตลาดมาก รมว.พาณิชย์จึงให้ติดตามและแก้ไขปัญหารายงานทุกระยะต่อไป



         ส่วนสินค้าที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในขณะนี้ คือ ไข่ไก่ โดยรายงานระบุว่าปริมาณไข่ไก่สะสมในระบบเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียน ประกอบกับ การส่งออกไข่ไก่ชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น จากการเฝ้าระวังและควบคุมโรคในสัตว์ปีกสำคัญ รวมถึงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง



ออก 2 พ.ร.ก. ช่วยลูกหนี้-เจ้าของธุรกิจ



         ลูกหนี้เงินกู้ หายใจคล่องขึ้น พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) คิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.64 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสภาพคล่องและฟื้นฟูกิจการและลดภาระลูกหนี้ทุกกลุ่มโดยเร็ว รวมถึงไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้จากการคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม รัฐบาลจึงได้ออกพ.ร.ก. 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ว



-กฎหมายฉบับแรก ป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราหรือวิธีการที่สร้างภาระกับลูกหนี้มากเกินไป ลดดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งกระทรวงการคลังจะทบทวนทุก 3 ปี



-ส่วนอีกฉบับ คือ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจวงเงิน 350,000 ล้านบาท ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วนที่ต้องสร้างความมั่นคงและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือในการดูแลช่วยเหลือประชาชนและเอกชน ช่วยผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินไป ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ต้องเสนอพ.ร.ก.ดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา



 

ข่าวทั้งหมด

X