ผู้บริหารปตท. ติดเชื้อโควิด-19 หลังร่วมประชุมร่วมกับรองปธ.ส.อ.ท.
หลังจากพบผู้ติดเชื้อในบริษัท ปตท.จำกัด มหาชน นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังกรณีโรคอุบัติใหม่ COVID-19 (ศูนย์พลังใจ) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ผู้บริหาร ปตท. ระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 1 คน ซึ่งปฏิบัติงานที่ชั้น 22 อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิต ได้รับการยืนยันผลการตรวจจากแพทย์ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.64 ว่า ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังได้เข้าร่วมประชุมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับผู้บริหารของ ส.อ.ท. เมื่อวันที่ 29 มี.ค.64 ซึ่งได้ทราบต่อมาภายหลังเมื่อวันที่ 5 เม.ย.64 ว่าผู้บริหารของ ส.อ.ท. ติดเชื้อโควิด-19 ผู้บริหารของ ปตท. จึงได้รีบเข้าตรวจและทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19
นอกจากนี้ ได้สั่งให้พนักงานทุกคนที่ปฏิบัติงานที่อาคารสำนักงานใหญ่ ทำงานที่บ้าน (Work from Home) จนถึงวันที่ 25 เม.ย.64 และดำเนินการฆ่าเชื้อโรคอาคารสำนักงานตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สอบสวนโรคตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
สำหรับการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ปตท. ในวันนี้ ปตท.ได้ปรับเพิ่มใช้การประชุม Virtual Conference เพื่อให้กรรมการและผู้บริหารที่ต้องกักตัวสังเกตอาการ ยังคงร่วมประชุมผู้ถือหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก่อนหน้านี้ นายสมัย ลี้สกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ส่งข้อความแจ้งผ่านทางโซเชียลแจ้งกรรมการ ส.อ.ท. (กส) ติดเชื้อโควิด-19 โดยในวันจันทร์ที่ 29 มี.ค.64 เข้าร่วมประชุมสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรเวลา 10.30 น. และหลังจากนั้นก็ได้ประชุมกรรมการสภาในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 5 เม.ย.64 และในช่วงเย็นได้ไปตรวจพบติดเชื้อโควิด-19
ผู้ว่าฯ รฟท.ยืนยันไม่เคยเดินทางไปเที่ยวสถานบันเทิง
หลังจากนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เข้ารับการตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 7 เม.ย.64 และได้รับการยืนยันผลตรวจเป็นผู้ติดเชื้อ ล่าสุดได้รับการประสานข้อมูลเบื้องต้น นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การติดเชื้อโควิด-19ของผู้ว่าการรถไฟฯ เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวนายนิรุฒ เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นได้
ผู้ว่าการรถไฟฯ แจ้งไทม์ไลน์ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.–7 เม.ย. 64 โดยยืนยันว่า ไม่เคยเดินทางไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ตามที่มีผู้กล่าวอ้าง และปัจจุบันนายนิรุฒอยู่ระหว่างการเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนและกระบวนการที่ถูกต้องทางการแพทย์
อุทัยฯ แถลงบ่ายนี้ พบติดเชื้อ 5 คน –ผู้ต้องขัง จ.นราธิวาส เสียชีวิต 1 ราย
พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 9 เมษายน 2564
1.ผู้ป่วยรายใหม่ 559 คน แบ่งเป็น
- จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 401 คน
- จากการค้นหาเชิงรุก 148 คน
- ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน 10 คน
2.ผู้ป่วยยืนยันสะสม 30,869 คน
3.หายป่วยแล้ว 28,128 คน
4.เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 96 ราย
-สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นผู้ต้องขังชายไทย อายุ 60 ปี มีประวัติป่วยเป็นวัณโรค ขณะป่วยอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ผู้เสียชีวิตรายนี้ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า
-วันที่ 31 มี.ค.64 มีอาการนอนไม่หลับ ซึม เหนื่อยหอบ จึงเข้ารับการเอ็กซเรย์ปอด พบผลผิดปกติ แพทย์วินิจฉัยว่าสงสัยจะเป็นวัณโรค ต่อมามีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น จึงใส่ท่อช่วยหายใจ
-วันที่ 1 เม.ย.64 แพทย์ส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบว่าติดเชื้อ อาการแย่ลง
-วันที่ 8 เม.ย.64 เสียชีวิต
-การระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)พบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 266 คน แต่ถ้าแยกเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงในหลายจังหวัด พบว่ามีถึง 214 คน กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยที่เชื่อมโยงคลัสเตอร์สถานบันเทิงมากที่สุด 85 คน
-ส่วนจังหวัดอุทัยธานี ที่เป็นจังหวัดไม่เคยพบผู้ติดเชื้อเลย ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อแล้ว 5 คน โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง และทางจังหวัดจะแถลงรายละเอียดในช่วงบ่ายนี้
กักตัวที่บ้านทำยังไง! กลับมาไขข้อข้องใจอีกครั้ง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลให้ความรู้เรื่องการกักตัวที่บ้านทำอย่างไร? ในช่วงการระบาดเป็นวงกว้าง
ก. ไม่ให้ไปทำงาน
ไม่ใช่หมายความว่าให้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ซึ่งถ้าติดเชื้อก็สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการด้วยซ้ำ และแม้มีอาการก็อาจน้อยนิด แต่ปล่อยเชื้อได้
ข. ให้อยู่บ้าน
ไม่ใช่หมายความว่า อยู่พักผ่อนสังสรรค์กันในครอบครัวอย่างใกล้ชิด ชวนเพื่อนมาจัดปาร์ตี้
ค. แล้วอยู่บ้านอยู่ยังไง?
แยกอยู่คนเดียวห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ควรใส่หน้ากากอนามัยชนิดจริงๆ ไม่ใช่ทำจากผ้า เพราะถือว่าขณะนี้ตนเองเป็นคนปล่อยเชื้อได้
-แยกจานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ
-เมื่อเข้าห้องน้ำ ถ้าอยู่บ้านหรูหรา ก็ยึดห้องน้ำหนึ่งห้องไปเลย
-แต่ถ้าเราเป็นคนธรรมดาต้องใช้ห้องน้ำรวม รอให้คนอื่นเข้าจนเสร็จก่อนและเข้าคนสุดท้ายและจัดการทำความสะอาด ทุกสิ่งอย่างในห้องน้ำด้วยน้ำกับสบู่ หรือ ที่แน่นอนคือ น้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งอ่างน้ำ ก๊อก ชักโครก ลูกบิดประตู
ง.ถ้าอยู่บ้านคนเดียว ต้องทำอะไรต่อ?
ถ้าคนอื่นทำงานนอกบ้าน คนที่ถูกกักเอาโทรศัพท์ไว้ข้างข้างตัว เกิดมีอาการอะไรจะได้โทรบอกคนอื่นได้ ไม่ใช่ถูกปล่อยทิ้งอยู่คนเดียว สลบไสล อยู่ไม่มีใครรู้
จ. ถ้าเกิดมีอาการขึ้น ทำไงต่อ?
รถที่จะนำไปส่งโรงพยาบาล ต้องแจ้งคนขับแท็กซี่ หรือถ้าจะใช้รถส่วนตัวต้องทำการล้างห้องโดยสารทั้งห้องอย่างสะอาดเอี่ยม อย่าขึ้นรถประจำทางสาธารณะ หรือไม่ก็โทรแจ้งโรงพยาบาลให้ส่งรถมารับ
ฉ. เสื้อผ้าเครื่องใช้ ทำไง?
ต้องซักแยกต่างหากออกจากคนอื่น อย่างเด็ดขาด
ช. จะเก็บกับตัวไปนานเท่าไหร่?
เอาตามมาตรฐานคือ 14 วัน แม้ว่าจะมีรายงานว่าระยะฟักตัวยาวถึง 24 วัน หรืออาจถึง 27 วัน
เกาหลีใต้ ปิดคลับ บาร์ คาราโอเกะ ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่ 4
เกาหลีใต้ ออกประกาศปิดคลับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานบันเทิง ยามค่ำคืนอีกครั้ง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มสูงขึ้นมากจนทำให้มีความกังวลว่ากำลังเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4
นายกรัฐมนตรี ชุง เซ-คยุน ประกาศว่า ผู้ป่วยใหม่รายวันมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา จึงให้ใช้มาตรการปิดสถานบันเทิงเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 เม.ย.64 และใช้มาตรการเคอร์ฟิว ห้ามรับประทานอาหารในร้านตั้งแต่เวลา 22.00 น.และห้ามการรวมกลุ่มที่มีสมาชิกมากกว่า 4 คน แต่ในกรุงโซล อินชอน และคย็องกี ห้ามรับประทานอาหารในร้านหลัง 21.00 น.
สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี หรือเคดีซีเอ รายงานว่า เมื่อวานนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 671 คน เป็นจำนวนที่มากที่สุดในรอบ 1 วัน นับตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.64 และจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมคือ 108,269 คน มีผู้เสียชีวิต 1,764 ราย