ครบรอบ70ปี การท่าเรือเตรียมยกระดับท่าเรือชั้นนำระดับโลก ยกระดับชีวิตชุมชนรอบท่าเรือ

24 มีนาคม 2564, 11:20น.


         การท่าเรือแห่งประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494  ดำเนินกิจการด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ยาวนานถึง 70 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และถึงแม้จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าเรือลดลงไปบ้าง





   



          เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่า การท่าเรือ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับที่ 8  ซึ่งเมื่อประเทศไทยและหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมทั้งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ตัวเลขปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าเรือก็ทยอยกลับมาเพิ่มขึ้น  โดยในเดือนมกราคม 2564 ปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.57 หรืออยู่ที่ 9.253 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่าเรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.66 อยู่ที่ 773,055 ที.อี.ยู.





         สำหรับก้าวต่อไป การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะยกระดับเป็นท่าเรือชั้นนำที่ได้มาตรฐานสากล  พัฒนาสู่การเป็นประตูการค้าหลักและเป็น HUB หรือศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า โดยจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เช่น  ระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ (Port Community System - PCS) ทั้งของภาครัฐและเอกชน  เพื่อรองรับโครงข่ายการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระดับนานาชาติ





ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือหลัก ได้แก่



1.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะขยายพื้นที่ เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มากขึ้น ยกระดับให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาค และเป็นเมืองท่าแห่งอนาคต, การพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ และพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ) เชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ และระบบโลจิสติกส์อย่างครบวงจร



2.โครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ  จะปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ,พัฒนาระบบขนส่งและการขนถ่ายสินค้าให้มีโครงข่ายเชื่อมโยงภายในประเทศ สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 240,000 ที.อี.ยู.ต่อปี, โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อแก้ปัญหาจราจรและส่งเสริมระบบการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ, การพัฒนาเป็นท่าเรือสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ คือ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ยกระดับชีวิตของชุมชนรอบท่าเรือไปพร้อมกัน 



3.โครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพท่าเรือภูมิภาค ได้แก่ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และท่าเรือเชียงของ จ.เชียงราย , ท่าเรือระนอง ที่จะเป็นประตูสู่การค้าทางฝั่งทะเลอันดามัน , ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด และการพัฒนาท่าเรือบก ที่ จ.ฉะเชิงเทรา



          โครงการพัฒนาทั้งหมดนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดี ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และชุมชนโดยรอบการท่าเรือ เพื่อให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในปี 2573





         ด้านนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  ระบุว่า โควิด-19 ทำให้โฉมหน้าเศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุนและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป จึงฝากเป็นการบ้านให้การท่าเรือฯ ปรับตัวปรับวิธีการดำเนินงานให้เข้ากับยุคนิวนอร์มอล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป



 



 



 



 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X