ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันพุธที่ 24 มีนาคม 2564

24 มีนาคม 2564, 09:01น.



วันนี้ ย้ายผู้ต้องกักไปโรงพยาบาลสนาม



           นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยขั้นตอนการย้ายผู้ต้องกักติดเชื้อโควิด-19 ทั้ง 393 คนไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อยไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวข้ามสนามบุณยะจินดา  ว่าจะเริ่มตรวจวัดระดับเชื้อในร่างกายของผู้ติดเชื้อทั้งหมด เพื่อคัดกรองว่าใครต้องถูกย้ายบ้าง เบื้องต้นผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเป็นกลุ่มแรกเพราะตามหลักแล้วจะเป็นกลุ่มมีเชื้อเยอะที่สุด ส่วนกลุ่มที่ติดเชื้อมาแล้ว 5-10 วัน ร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิต้านทานจนเชื้อไวรัสลดลงจนถึงขนาดไม่สามารถแพร่ระบาดสู่ผู้อื่น ทำให้ไม่จำเป็นต้องขนย้าย เชื่อว่า โรงพยาบาลสนามขนาด 300 เตียง จะเพียงพอรับกับจำนวนผู้ต้องกัก



          พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า ผู้ต้องกักที่อยู่ในความดูแลปัจจุบันมี 1,615 คน ถูกกักที่บางเขน 490 คน ที่สวนพลู 1,125 คน ซึ่งผู้ที่ติดโควิด-19 ที่อยู่ในความดูแลมีทั้งสิ้น 393 คน แบ่งเป็นชาย 370 คน หญิง 23 คน ทั้งหมดถูกแยกกักตัวที่โรงพยาบาลสนามชั่วคราวในห้องกักที่บางเขน ขณะเดียวกันให้แต่ละตม.จังหวัดจัดหาพื้นที่สำหรับ โรงพยาบาลสนาม หากเกิดกรณีผู้ต้องกักติดเชื้อ



ลุยตรวจเชิงรุก หมู่บ้านอมรชัย 4 เขตบางขุนเทียน



          การขยายพื้นที่ตรวจเชิงรุกในชุมชนพื้นที่เขตบางขุนเทียน วันนี้ กรุงเทพมหานคร(กทม.)จะดำเนินการต่อเนื่อง บริเวณห้องพัก หมู่บ้านอมรชัย 4 พระราม 2 ซอย 75 เขตบางขุนเทียน นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า กทม.จัดหน่วยเคลื่อนที่ทำการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย 2 คัน และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลพีเอ็มจี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ร่วมเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ คาดว่า หมู่บ้านอมรชัย 4 มีผู้พักอาศัยประมาณ 1,500-1,700 คน



          การตรวจคัดกรองจุดนี้ เนื่องจาก เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 64 นายจ้างสถานประกอบการในพื้นที่เขตบางขุนเทียน นำลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว 7 คน ไปตรวจสุขภาพเพื่อขอต่อใบอนุญาตทำงาน ปรากฏว่ามีลูกจ้างติดเชื้อ โควิด-19 จำนวน 2 คน จึงได้นำลูกจ้างที่เหลืออีก 71 คน ไปตรวจเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 28 คน รวมเป็น 30 คน



ต้องตรวจ 2 ครั้ง หรือ ฉีดวัคซีนแล้ว ถึงจะขายของในตลาดบางแคได้



          ก่อนที่จะมีการเปิดตลาดย่านบางแค ทำการค้าขายอีกครั้ง พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) กล่าวว่า การระบาดเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ย่านตลาดบางแค เจ้าของหรือผู้ประกอบการตลาด ต้องปรับปรุงด้านสุขาภิบาลตลาดและผ่านการตรวจประเมินจาก กทม. กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งจัดทำแผนผัง ข้อมูลผู้ค้า ข้อมูลแรงงานหรือลูกจ้างให้แล้วเสร็จเรียบร้อยก่อนเปิดดำเนินการ สำหรับผู้ค้าและแรงงานหรือลูกจ้างในตลาดย่านบางแคที่ผ่านการตรวจคัดกรองแล้ว 2 ครั้ง หรือได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะมีเอกสารรับรองผลการตรวจหรือรับรองการฉีดวัคซีน จึงจะสามารถปฏิบัติงานในตลาดได้




          ผลการค้นหาเชิงรุกโรคโควิด-19 ในพื้นที่เขตบางแค บริเวณตลาดวันเดอร์ตลาดใกล้เคียง และตลาดคลองขวาง รวมทั้งชุมชนบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทาน ที่บริเวณสวนแห่งวัฒนธรรมเขตบางแค ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางแค และบริเวณด้านหน้าศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขาบางแค ตั้งแต่วันที่ 10-22 มี.ค.64 มีผู้มารับการตรวจรวม 22,848 คน ผลพบเชื้อ 419 คน รอผล 4,041 คน ยังคงดำเนินการค้นหาเชิงรุกต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย



          ผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งในส่วนของตลาด สถานประกอบการโรงงาน และชุมชนต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.63-22 มี.ค. 64 กทม.สุ่มตรวจแล้ว จำนวน 86,744 คน ผลการตรวจพบผู้ติดเชื้อรวม 461 คน




โควิด-19 ระลอก3 ในยุโรป ฉุดน้ำมันโลกดิ่งลงต่ำสุดตั้งแต่ 9 ก.พ.



          ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงอย่างแรง ในการปิดตลาดวันที่ 23 มี.ค.64 จากปัจจัยต่างๆของสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19



-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือ ไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพ.ค.64 ลดลง 3.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดที่ 57.76 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล



-เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพ.ค.64 ลดลง 3.83 ดอลลาร์ ปิดที่ 60.79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

          ตลาดน้ำมันทั้งสองสัญญาแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.64 ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกร่วงลง



-ความกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดรอบใหม่สกัดโควิด-19



-การแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า



-หลายชาติในยุโรป ทยอยขยายมาตรการล็อกดาวน์ สาเหตุจากการแพร่ระบาดระลอก 3  จากไวรัสกลายพันธุ์ -เยอรมนี ชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของยุโรป ขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปจนถึงวันที่ 18 เม.ย.64



-ฝรั่งเศส ประชาชนเกือบ 1 ใน 3 เข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์นาน 1 เดือน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มี.ค.64 ท่ามกลางเคสผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นในกรุงปารีสและหลายพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ

สหรัฐฯ อาจปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล ฉุดวอลล์สตรีทร่วง



          ตลาดหุ้นสหรัฐฯดิ่งลงหนักเช่นกัน ความคึกคักของนักลงทุนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มซาลงไป ท่ามกลางความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และวิตกรัฐบาลสหรัฐฯอาจปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล นอกจากนี้แล้วตลาดยังจับตาการเข้าให้ปากคำต่อสภาคองเกรสของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) และ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้นางเยลเลน ส่งสัญญาณว่าประธานาธิบดีไบเดน อาจเสนอปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลเป็นร้อยละ 28 ทำให้หุ้นวอลล์สตรีทร่วงแรง ขณะที่ ทองคำปิดลบ แตะระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์



-ดาวโจนส์ ลดลง 308.05 จุด หรือร้อยละ 0.94 ปิดที่ 32,423.15 จุด



-เอสแอนด์พี ลดลง 30.07 จุด หรือร้อยละ 0.76 ปิดที่ 3,910.52 จุด



-แนสแดค ลดลง 149.84 จุด หรือร้อยละ 1.12 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 13,227.70 จุด

          ราคาทองคำ แตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ หลังดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และนักลงทุนจับตาปัจจัยดังกล่าว -ราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนเม.ย.64 ลดลง 13 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดที่ 1,725.10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์




 

ข่าวทั้งหมด

X